วธ.ร่วมมือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เปิดเวทีสัมมนา ๕ ภาค ชี้เด็กและเยาวชนต้องมีองค์ความรู้และทักษะเท่าทันสื่อ ปฏิเสธสื่อที่ไม่ดีและรับสื่อที่ดีได้

0
355

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ๕ ภูมิภาค ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ประชาชน เด็กและเยาวชนที่สนใจเข้าร่วม ณ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน เพื่อมาร่วมขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

ปลัดวธ. กล่าว่า ท่ามกลางเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการรับสื่อของประชาชนที่จะต้องเสพข้อมูลขาวสารทั้งด้านสาระและความบันเทิง บางครั้งก่อให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดข่าวปลอม (Fake news) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) รวมทั้งการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมในอินเทอร์เน็ต (Hate speech) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้เสพสื่อเกิดการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริง ฉะนั้น ผู้เสพสื่อหรือผู้รับสื่อโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ  และดิจิทัลเพื่อให้ตนเองมีวิจารณญาณในการรู้เท่าทันสื่อ และนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้สามารถปฏิเสธสื่อที่ไม่ดีและเลือกรับสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้

“รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงพร้อมจะผลักดัน เผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การรู้ท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล รวมถึงพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ผลิตสื่อที่ดีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง โดยเปิดให้มีการจัดโครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ๕ ภูมิภาค เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช ชลบุรี กรุงเทพฯ บูรณาการทุกหน่วยงาน เพื่อเพื่อมาร่วมขับเคลื่อนที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากเด็ก เยาวชน ประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่างก็ยินดีที่มีเวทีเปิดรับความคิดเห็นและสนับสนุนให้ผลิตสื่อประจำท้องถิ่น ทุกข้อคิดเห็นต่าง ๆ ข้อติชมในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปปรับปรุงและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายของกองทุนฯ ต่อไป พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมบทบาทสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อฯระดับจังหวัดให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” ดร.ยุพา กล่าว