ทรงมีพระราชดำริตั้ง “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ – โปรดเกล้าฯตั้งสมณศักดิ์ “หลวงปู่เลี่ยม” เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ศิษย์ “หลวงปู่ชา” ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพวชิรญาณ”

0
1207

วันนี้ (31 มี.ค.64)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ทรงลาการประชุม และทรงมีพระบัญชาให้ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมส. เป็นประธานการประชุมมส. โดยในระหว่างการประชุม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ กรรมการมส. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ทรงมีพระราชดำริให้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมส. ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ  ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ทั้งนี้ภายหลังการแจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ทางสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้มอบเรื่องดังกล่าวให้กับนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะเลขาธิการมส. ไปดำเนินการในขั้นตอนออกพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชต่อไปทันที

สมเด็จพระมหาธีราจารย์

              ทั้งนี้ปัจจุบันวัดโพธิ์มี พระเทพวชิรโมลี (ทองใบ ปุณฺโณภาโส) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส หลังจากที่พระธรรมรัตนากร (สีนวล ปญฺญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ มรณภาพลงเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา

ประวัติสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เกิดวันที่ 24 พ.ค. 2480 ที่บ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อ ขุนก่อเอ้อุกฤษ (ผา สุทธิพันธุ์) มารดาชื่อ นางก่อเอ้อุกฤษ (ตา สุทธิพันธุ์) บรรพชาเป็นสามเณร วันที่ 3 เม.ย. 2491 ที่วัดยางน้อย ต.ก่อเอ้ พระครูพินิฐศีลคุณ เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน วัดทุ่งสว่าง บ้านโนนใหญ่ ต.ก่อเอ้ เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ วันที่ 20 ก.ค. 2501 ณ พัทธสีมาพระอุโบสถวัดจักรวรรดิราชาวาส แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ พระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส (ภายหลังได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นที่สมเด็จพระธีรญาณมุนี) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยกิจโกศล (อิน ติสฺสสโร ป.ธ.6) (ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชปัญญามุนี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาบุญมา ทีปธมฺโม ป.ธ.6 (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระพุทธิวงศมุนี) เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ปี ‪2516-2544 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส ปี 2544 ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งเป็นกรรมการมส. และเจ้าอาวาสวัดยานนาวา

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ระบุว่า  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระราชภาวนาวิกรม เป็น พระเทพวชิรญาณ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 3 1 มี.ค. 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระเทพวชิรญาณ

       สำหรับพระราชภาวนาวิกรม วิ. (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) มีนามเดิมว่า เลี่ยม จันทำ เกิดวันที่  5 พ.ย. 2484  ที่บ้านโคกจาน ต.ทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ บิดาชื่อนายเพ็ง จันทำ มารดาชื่อนางเป้ง จันทำ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี 2504 โดยมีพระครูถาวรชัยเขต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทิพย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระจันลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ปี 2512  พระอาจารย์เลี่ยม ได้ออกเดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อเรียนรู้ธรรม จนได้มาพบสำนักของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) หรือ หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง และได้กราบนมัสการหลวงปู่ชา ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ในการนี้เอง หลวงปู่ชา ท่านได้เมตตาเปลี่ยนบริขารทุกอย่างให้หมด ปี 2516 กราบลาหลวงปู่ชา สุภัทโท ไปศึกษาข้อวัตรข้อปฏิบัติของครูบาอาจารย์ ฝ่ายธรรมยุติ และหลวงปู่ชา ได้ส่งท่านไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่วัดสาขาของวัดหนองป่าพง ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว  และปี 2537 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง สำหรับลำดับสมณศักดิ์ ปี 2544 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิสุทธิสังวรเถร ปี 2549 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชภาวนาวิกรม