ตัวแทนชุมชนใกล้แคมป์คนงาน ร้อง ศบค. จี้บริษัทผู้รับเหมา มีมาตรการรับมือโควิด-19

0
244

พร้อมเสนอตรวจโควิดเชิงรุกในตลาด กทม. และพื้นที่ระบาดหนัก เร่งฉีดวัคซีนผู้ขายและลูกจ้าง และช่วยเหลือเยียวยาผู้ขายในตลาดที่ถูกสั่งปิด

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2564) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล  นายชูวิทย์  จันทรส  เลขานุการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน พร้อมด้วยนางวงศ์จันทร  จันทร์ยิ้ม ผู้ประสานงานพื้นที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต  เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง  มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว  พร้อมด้วยแกนนำชุมชน กทม. ใกล้แคมป์คนงานก่อสร้าง กว่า 10 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. ผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อนำเสนอปัญหาข้อกังวลของชุมชนที่มีคนงานแคมป์ก่อสร้าง และเรียกร้องให้บริษัทผู้รับเหมาทุกรายแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใช้แรงงาน

นางวรรณา บุญนาค แกนนำจิตอาสาชุมชนทรัพย์สินใหม่ ซอยรามคำแหง 39 กล่าวว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ ขณะนี้มีแรงงานก่อสร้างในแคมป์คนงานหลายแห่งติดเชื้อโควิด-19 ทำให้แรงงานที่เหลือต้องถูกกักตัว แต่ปัญหาคือนายจ้างปล่อยให้แรงงานออกมาจากแคมป์ เพื่อกักตัวต่อที่บ้านพัก อย่างชุมชนทรัพย์สินใหม่ขณะนี้มีแรงงานไทยที่ต้องถูกกักตัวอยู่ประมาณ 50 คน จากแคมป์หลักสี่, ประตูน้ำ, ราชเทวี, บางเขน และอิตาเลี่ยนไทย เบื้องต้นผลตรวจเป็นลบแต่ก็ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ตามมาตรการ ทางชุมชนจึงต้องช่วยดูแลติดตาม โดยส่งข้าวส่งน้ำวันละ 2 มื้อ ส่วนมื้อที่ 3 แรงงานจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกันเอง ก็ถือว่าเป็นภาระหนักพอสมควร เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่รับค่าจ้างรายวัน เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้เงิน ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลผลักดันให้นายจ้างมีการรับผิดชอบต่อแรงงานที่จะต้องกักตัวเหล่านี้ ทั้งสถานที่กักตัวและการกินอยู่

“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้นายจ้างรับผิดชอบการปรับตัวและการกินอยู่ของแรงงานด้วย นอกจากนี้ขอให้รัฐเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก และฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยให้รุกเข้ามาฉีดในชุมชนเลย เพราะมีคนแก่เยอะ ไม่อยากให้เคลื่อนย้ายกัน เพราะเดินทางลำบาก และเสี่ยงติดเชื้อระหว่างเดินทางด้วย”นางวรรณา กล่าว

นางวงศ์จันทร  จันทร์ยิ้ม ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า หลักการสำคัญต้องมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ใช้แรงงานและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.กรณีคนงานก่อสร้างหรือแคมป์คนงานที่อยู่ใกล้ชุมชน เครือข่ายเรียกร้องให้บริษัทผู้รับเหมา ออกมาแสดงความรับผิดชอบ สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนถึงมาตรการควบคุมโควิด-19 ทั้งในแคมป์และชุมชนใกล้เคียงเพื่อลดความหวาดระแวง สร้างการมีส่วนร่วมสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลของชุมชน 2.ในหลายแคมป์คนงานที่กักตัวบางส่วนออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้านนอก มาจับจ่ายซื้อของ รวมถึงแอบมาตั้งวงรวมกลุ่มกันกินดื่ม  ซึ่งสร้างความกังวลอย่างยิ่งกับชุมชน จึงขอเรียกร้องให้บริษัทผู้รับเหมา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับความเข้มข้นควบคุม ช่วยเหลือคนงานให้เต็มกำลัง มิใช่โยนทุกอย่างไปที่ผู้รับเหมาช่วง 3.กลุ่มแรงงานที่ผิดกฎหมายต้องเร่งสร้างความไว้วางใจและชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มากกว่าการมุ่งจับกุม เพื่อป้องกันการหลบหนี

ด้าน นายชูวิทย์  จันทรส  เลขานุการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน  กล่าวว่า เครือข่ายฯได้สุ่มสำรวจตลาดสด ตลาดนัด ที่จดทะเบียนถูกต้องและตลาดนอกระบบ ในพื้นที่ กทม. จำนวน 70 แห่ง ระหว่าง 10-25 พ.ค.64 พบว่า ลูกค้าทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย จัดทางเข้าออกมีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิกว่าร้อยละ 70 มีเจลแอลกอฮอล์หรืออ่างล้างมือเป็นจุดร้อยละ 77 มีการติดป้าย/เสียงตามสาย ร้อยละ 81 แต่ส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องความแออัด การรักษาระยะห่างซึ่งทำได้ยาก และยังมีพ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้างส่วนหนึ่งถอดหน้ากากเวลาไม่มีลูกค้า หรือใส่ไว้ที่คาง อีกทั้งมีการวางจุดคัดกรองไม่ครอบคลุมทุกจุดเข้าออก บางแห่งเครื่องวัดอุณหภูมิใช้งานไม่ได้ ที่น่าห่วง ร้อยละ 85 ขาดการคัดกรองบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เพราะอุปกรณ์วัดอุณหภูมิถูกเก็บไป นำมาใช้จริงเฉพาะเวลาลูกค้ามาตลาด ส่วนช่วงเวลาพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาตลาด(ก่อนเวลาทำการค้าขาย) แทบไม่มีการตรวจวัด

“เครือข่ายฯ จึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรีและ ศบค.ดังนี้ 1.ขอให้ ศบค.เร่งตรวจโควิด-19 ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและลูกจ้างในตลาด จัดหาวัคซีนให้กับคนกลุ่มนี้ พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา พ่อค้าแม่ค้า ตลาดที่ถูกคำสั่งปิด กำหนดระยะเวลาจัดการตามมาตรฐานสาธารณสุข ฟื้นฟูตลาดเพื่อกลับมาเปิดได้โดยเร็ว 2.เคร่งครัดมาตรการจำกัดทางเข้าออก คัดกรองวัดอุณหภูมิ ไม่ใช่แค่คัดกรองแค่ผู้ซื้อ และขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสตลาดที่ขาดความรับผิดชอบ 3.ขอให้กรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดเร่งสำรวจตลาดที่อยู่นอกระบบ เพื่อให้เข้าสู่ระบบ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมโควิด-19 เช่นเดียวกับตลาดที่ขึ้นทะเบียน อย่างไม่เลือกปฏิบัติ” นายชูวิทย์ กล่าว