วัดอรุณสหราชอาณาจักร สานต่อโคกหนองนา “จากแดนไกล..เชื่อมสายใยรักแผ่นดินแม่”

0
388

วัดอรุณสหราชอาณาจักร สานต่อโคกหนองนา จากแดนไกล..เชื่อมสายใยรักแผ่นดินแม่ หลังนำคนไทยที่เมืองนอริช อังกฤษ ทำโคกหนองนาจนสำเร็จ จุดประกายแนวคิด พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในอนาคต หากวันหนึ่งต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอน

พระราชมหาเจติยาภิบาล ประธานสมาคมวัดอรุณสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยคณะพระธรรมทูต เดินทางไปประกอบพิธีเจิมป้ายโครงการโคก หนอง นา และปลูกต้นไม้เป็นปฐมฤกษ์ ซึ่งถือฤกษ์มงคลหลังจากงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหว่านไถของชาวไร่ ชาวนาประจำปี   ในโอกาสที่ นางพะเนียง จาวิส ซึ่งเป็นมหาอุบาสิกา ชาววัดอรุณสหราชอาณาจักร ได้นำแนวคิดนี้กลับมาทำที่บ้านเกิด โดยคำแนะนำของพระราชมหาเจติยาภิบาล และคณะพระธรรมทูตคอยช่วยเหลือสนับสนุนให้ดำเนินโครงการนี้ เพื่อต่อยอดโครงการ และเป็นฐานรองรับการเป็นอยู่ในอนาคตให้แก่ตนเอง และครอบครัว ด้วยความรัก ความผูกพันธุ์ในบ้านเกิดของตน แต่จำต้องออกไปทำงานต่างแดน และต้องเผชิญกับกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ขยันทำงานเพื่อเลี้ยงตนเอง และจุนเจือครอบครัว แม้เหนื่อยทางกาย เหนื่อยใจแต่ไม่อาจบอกใครได้ว่าตนเองลำบาก แต่มักบอกให้คนอื่นรับรู้เสมอว่าตนเองสบาย เพราะกลัวครอบครัว และคนรอบข้างเป็นห่วง  ส่วนคนไทยในเมืองนอริช ที่มีวัดอรุณสหราชอาณาจักรเป็นที่พึ่งทางใจ ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแม้จะอยู่ในต่างแดน แต่ก็ยังหวนคิดถึงบ้านเกิดของตนเองอยู่เสมอ พระคุณพระราชมหาเจติยาภิบาล จึงมักบอกญาติโยมเสมอว่า ถ้าเราคิดถึงบ้าน เราไปอยู่ที่ใดก็ทำที่นั่นให้เป็นเสมือนบ้านของเรา บ้านที่น่าอยู่ บ้านที่อยู่แล้วมีความสุข มีรอยยิ้ม และช่วยกันบำรุงรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่กับเรานานๆ

จากโครงการโคกหนองนาโมเดล ที่พระเดชพระคุณพระราชมหาเจติยาภิบาล ได้นำพาพระสงฆ์ และญาติโยมชาววัดอรุณสหราชอาณาจักร ดำเนินการประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัล และคำชื่นชมมากมาย ได้จุดประกายให้คนไทยในเมืองนอริช นึกถึงอนาคต และบ้านเกิดเมืองนอนของตน นำโครงการโคกหนองนา กลับมาทำที่บ้านเกิดของตน ภายใต้ความไม่แน่นอนในอนาคต หากวันหนึ่งได้กลับมาอยู่บ้าน จะได้มีความมั่นคง และความภาคภูมิใจ จากสิ่งเล็กๆที่ทำด้วยหัวใจ มากไปกว่านั้น คือการได้บ่มเพาะวิธีคิดในการดำเนินชีวิต ด้วยการพึ่งพาตนเอง ให้แก่ครอบครัว ไม่ต้องรอคอยพึ่งพาอาศัยจากคนอื่นเพียงอย่างเดียว

นางพะเนียง จาวิส กล่าวว่า  ซึ่งแม้จะเกิดที่ประเทศไทย แต่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนเป็นเวลานาน ส่วนมากเธอใช้เวลามุ่งมั่นทำงานหาเลี้ยงชีพ และจุนเจือครอบครัวเป็นหลัก จึงไม่ค่อยได้รับรู้ สัมผัสเกี่ยวกับพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งเธอได้มารับรู้ แนวคิดโครงการโคก หนอง นา จากวัดอรุณสหราชอาณาจักร ที่ได้บูรณาการแนวคิดมากจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 จึงตั้งใจนำโครงการนี้กลับมาทำที่บ้านเกิด จุดมุ่งหมายเบื้องต้นเพื่อให้ตนเองได้มีที่อยู่ ที่กิน ที่พักผ่อนเวลากลับบ้าน และที่สำคัญเพื่อให้ญาติพี่น้องได้รู้จักวิถีชีวิตของการพึ่งพาตนเอง

จึงเห็นว่าในทุกขั้นตอนตั้งแต่ลงมือทำ เธอจะให้ญาติพี่น้อง ลูกหลาน มาร่วมกันฝึกหัดเรียนรู้ และลงมือทำด้วยตัวเอง ให้กายได้สัมผัสแดด ให้มือและเท้าได้สัมผัสน้ำและดิน จึงเกิดเป็นบรรยากาศของญาติพี่น้องมารวมตัวกัน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน มีทั้งรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ เกิดความรัก ความสามัคคีกันในครอบครัว ซึ่งคุณพะเนียง จาวิส ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า การกลับบ้านครั้งนี้เธอมีความสุขมาก เพราะบรรยากาศแบบนี้ได้เลือนหายไปจากความทรงจำตั้งแต่ในวัยเด็ก ความสุขนี้ได้หวนกลับมาอีกครั้งท่ามกลางความรัก ความอบอุ่นของครอบครัว และญาติพี่น้อง

ในตอนท้ายเธอกล่าวอีกว่า คนเราจะมีความรัก ความศรัทธาในสิ่งใดก็มีเหตุผลเสมอ เช่นเดียวกับเหตุผลที่คนไทยมีความรัก ความศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์ อาจจะมีหลายเหตุผล แต่สำหรับเธอแล้ว เธอรู้สึกรักและศรัทธาในองค์พระมหากษัตริย์ผ่านแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการโคก หนอง นา เพราะได้สัมผัสถึงความสุขที่มาพร้อมกับแนวคิดที่พระราชาพระราชทานให้ เพียงแค่เริ่มต้นโครงการเธอก็ได้สัมผัสถึงความสุขนี้แล้ว “เราจะมีเงินทองมากมายเท่าไหร่กันเราจึงจะได้สัมผัสความสุขนี้

ในอีกด้านหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าคุณค่าของโครงการโคกหนองโมเดล คือ เป็นแรงบันดาลใจ ที่จุดประกายความคิด ส่งผ่านในนามของความรัก ความคิดถึง ความปรารถนาดี และความกตัญญู ที่มีต่อแผ่นดินเกิด และครอบครัวของตน เหนือสิ่งอื่นใด คือการได้ปลูกฝังแนวคิดของตน และครอบครัวว่า “การอยู่โดยอาศัยคนอื่นนั้น เพียงแค่อยู่รอด แต่อยู่อย่างยั่งยืนและมีคุณค่า ต้องอยู่แล้วพึ่งพาตนเองได้”  ซึ่งเธอได้สานต่อโครงการโคกหนองนา ไว้ที่บ้านเกิด เพื่อให้เป็นความยั่งยืนและเป็นสัมมาชีพของครอบครัวที่เมืองไทย ก่อนที่เธอจะบินกลับประเทศอังกฤษ

(ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวไทย)

*****************************************************************