องค์กรสตรี นำญาติเด็กพิการถูกข่มขืน เข้าร้องทุกข์ต่อ ผบ.ตร. หลังคดีไม่คืบ หวั่นตำรวจในพื้นที่เกียร์ว่าง

0
370

อย่าปล่อยคนผิดลอยนวล พร้อมชี้ช่องว่างการบังคับใช้กฎหมายกรณีคนพิการถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ

วันนี้ (24พฤศจิกายน 2563) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน นางสาวอังคณา  อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว นำญาติผู้เสียหายที่ถูกข่มขืน ซึ่งเป็นเด็กพิการ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ผ่านทาง พล.ต.ต.ยิ่งยศ  เทพจำนง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพื่อร้องเรียนและให้ตรวจสอบและในช่วงท้ายมูลนิธิได้มอบหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้” ซึ่งรวบรวมเรื่องจริงของคนพิการที่ถูกข่มขืน กว่า 15 ชีวิต ให้ทาง สตช. เพื่อเป็นแนวทางในการปรับการทำงานของตำรวจด้วย

นางสาวอังคณา กล่าวว่า จากกรณีที่ผู้พิการถูกข่มขืน ไม่ได้รับความยุติธรรม คดีไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น ในฐานะที่ สตช. เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลทางด้านกฎหมายและการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน มูลนิธิฯร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการคุกคามทางเพศและเครือข่ายชุมชน จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอร้องเรียน กรณีเด็กหญิงพิการที่ถูกข่มขืน เหตุเกิดในจังหวัดพิษณุโลก ในความรับผิดชอบของ สภ.ชุมแสงสงคราม มีการแจ้งความไว้ แต่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีไม่สามารถรวบรวมหลักฐานส่งฟ้องได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มูลนิธิฯ ซึ่งได้เข้าช่วยเหลือในกรณีนี้ จึงขอให้ สตช. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเร่งดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้เสียหายเป็นการด่วน

2.ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้หญิงพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มูลนิธิฯ พบปัญหาในการดำเนินการทางกฎหมายหลายด้าน อาทิ พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความดำเนินคดี เพราะคนพิการไม่สามารถสื่อสารสภาพปัญหาและชี้ตัวผู้กระทำได้ หรือพยายามไกล่เกลี่ยให้เกิดการยอมความ หรือพนักงานสอบสวนไม่ชี้แจงรายละเอียดและแจ้งสิทธิขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายให้ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศทราบ จนหลายกรณีขาดอายุความ จึงต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการทำงานกับผู้เสียหายกลุ่มนี้ ต้องหาวิธีการหรือหลักฐานประกอบเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งมีความยากและซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด

3.ข้อเสนอเชิงนโยบาย กรณีคนพิการหูหนวกหรือพิการซ้ำซ้อนถูกล่วงละเมิดทางเพศ พนักงานสอบสวนต้องรับแจ้งความตามกระบวนการทางอาญา หากเป็นคดีทางเพศต้องทำอย่างรวดเร็วในการส่งผู้เสียหายพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือพาไปดูที่เกิดเหตุ รวมถึงการประสานหาล่ามภาษามือหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารที่เหมาะกับความพิการของผู้เสียหาย ซึ่งต้องจัดหาให้มีจำนวนเพียงพอ และมีงบประมาณหรือสวัสดิการของรัฐในการจ้างล่ามให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานเบิกจ่ายเงินให้น้อยลง

4.เนื่องในโอกาสเดือนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มูลนิธิฯ ขอส่งมอบหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้” จำนวน 20 เล่ม ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหา เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของคนพิการที่ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศไว้ถึง 15 กรณี

“กลุ่มผู้หญิงพิการ ถือเป็นกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจประเทศไทยมีคนพิการ 1.9 ล้านคน และผู้หญิงพิการมีแนวโน้มถูกกระทำความรุนแรงทางเพศสูงกว่าผู้หญิงปกติถึง 10 เท่า ส่วนการช่วยเหลือผู้หญิงพิการของมูลนิธิฯ พบว่ามีผู้หญิงพิการเฉลี่ย 3-4 ราย/ปี ซึ่งเป็นผู้พิการทางสมอง เช่น บกพร่องทางการเรียนรู้ ออทิสติก อายุ 14-16 ปี เข้ามาขอคำปรึกษา ส่วนผู้กระทำฯ เป็นคนใกล้ตัว เช่น พ่อ พ่อเลี้ยง อาเขย เพื่อนบ้าน หลายกรณีไม่สามารถสื่อสารได้ว่าผู้กระทำเป็นใคร ส่งผลทั้งร่างกายและจิตใจ ภาวะซึมเศร้า ท้องไม่พร้อม พยายามฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตาย” นางสาวอังคณา กล่าว

ด้าน นางเอ (นามสมมติ) ญาติเหยื่อพิการที่ถูกข่มขืน กล่าวว่า ตนในฐานะอาของผู้เสียหาย ที่เดินทางมา สตช. วันนี้  เพื่อต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้หลานสาวพิการที่ถูกอาเขยข่มขืนจนตั้งครรภ์ ตั้งแต่อายุ 17 ปี ก่อนหน้านี้ ได้พาหลานเข้าแจ้งความ ซึ่งตำรวจได้ประสานดำเนินการเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ให้ เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความพร้อมจะเลี้ยงดูบุตรได้ ส่วนคดีความที่จะเอาคนผิดมารับโทษ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และผู้ก่อเหตุยังลอยนวล

“ตอนนี้สภาพจิตใจแย่มาก สงสารหลานที่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ อีกทั้งผู้กระทำก็ดูเหมือนไม่ได้สำนึกผิด ไม่มีแม้คำขอโทษ แถมกลับยังมาข่มขู่ ดูถูกเยาะเย้ยถากถางครอบครัว ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่รู้เลยว่าตำรวจทำงานไปถึงไหนแล้ว จึงอยากให้ สตช. ตรวจสอบและนำคนผิดมารับโทษ” ญาติเหยื่อพิการ กล่าว

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า ทางเราจะดำเนินการตรวจสอบ  และทำให้กรณีนี้เป็นตัวอย่าง ขอให้ผู้เสียหายมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม