สมเด็จพระวันรัต ลงพื้นที่หมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ที่อ.แม่ริม จี้ “หมู่บ้านศีล 5 – อปต.” คำนึงถึงผลเป็นรูปธรรม ความสำเร็จไม่ใช่เพียงอยู่ในกระดาษ

0
1997

วันนี้ (1 ส.ค.62) สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในฐานะประธานคณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อปต.) พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ส่วนกลาง และคณะกรรมการโครงการฯหนเหนือ  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ที่วัดกุมภประดิษฐ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยสมเด็จพระวันรัต กล่าวให้โอวาทว่า อปต. และโครงการหมู่บ้านศีล 5 เป็นโครงการที่ดี และมีเป้าหมายในการทำงานเหมือนกัน คือ นำหลักพระพุทธศาสนามาให้ประชาชนได้ทราบ และนำไปปฏิบัติ เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ตนเองและชุมชน และขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้สึกด้วยว่า การทำให้โครงการประสบความสำเร็จคือตรงไหน ไม่ใช่เพียงแต่อยู่ในกระดาษ ความรู้ที่นำไปบอกประชาชน ผลรูปธรรมคือมีการนำไปปฏิบัติ ดังนั้นจะทำอย่างไรจะให้ประชาชนนำความรู้จากทั้งสองโครงการไปปฏิบัติให้เกิดผล คือ คุณความดี

สมเด็จพระวันรัต กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานโครงการไม่ใช่ทำเป็นธรรมเนียม ประเพณี เราต้องคิด จะเอาแค่พิธีกับปริมาณเท่านั้น หรือจะเอาคุณภาพ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงด้วย เพราะหากทำให้เกิดผลเชิงคุณภาพ โครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก และที่สำคัญจะเกิดประโยชน์ต่อพุทธศาสนาด้วย ซึ่งการทำให้เกิดผล เราต้องทำให้ประชาชนนำไปปฏิบัติเท่าที่สามารถปฏิบัติได้และต้องทำให้เห็นผลด้วยว่าเมื่อทำแล้วจะได้อะไร ต้องชี้ให้เห็นว่าเมื่อรักษาศีล 5 แล้วจะได้อะไร

พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 7 ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการฯ ส่วนกลาง กล่าวว่า อปต.เป็นโครงการที่เริ่มต้นโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และอดีตกรรมการมส. เมื่อปี2518 เพื่อให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในด้านต่าง ๆ 8 ด้าน คือ ศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพอนามัย สัมมาชีพ สันติสุข ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์ กตัญญูกตเวทิตาธรรม และสามัคคีธรรม ซึ่งคณะสงฆ์ดำเนินการโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาประมาณปี 2557 ประเทศไทยต้องตกอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทำให้ประเทศต้องการความสมานฉันท์ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมส. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จึงริเริ่มโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเป็นการต่อยอดมาจากอปต. เพื่อสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ และเพื่อให้ทั้งสองโครงการเกิดความยั่งยืน ทางคณะสงฆ์จึงเห็นว่าควรจะนำทั้งสองโครงการมาบูรณาการร่วมกัน โดยบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ด้วย