สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ย้ำหน้าที่พระ เผยแผ่หลักธรรม-เป็นต้นศรัทธาของชาวพุทธ “โคราช” ตัวอย่างความสำเร็จสอนธรรมศึกษาในร.ร.

0
1198

วันนี้ (19 ส.ค.62) ที่อาคารราชวิริยาลังการ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อชี้เเจงการจัดการเรียนการสอนและการสอบธรรมศึกษาในสถานศึกษาปีการศึกษา 2562 เขตปกครองคณะสงฆ์หนกลางและกรุงเทพฯ พร้อมทั้งกล่าวเปิดการประชุม ว่า หลังจากสำนักงานแม่กองธรรมฯ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ร่วมทำบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตั้งแต่ปี 2557 ขณะนี้ครบ 5 ปีแล้ว จึงต้องมาทบทวนว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง มาทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อทำงานต่อไปด้วยความเรียบร้อยประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น 5 ปีที่ผ่านมาเมื่อย้อนพิจารณาไปจะพบว่า จำนวนผู้เข้าเรียนเข้าสอบธรรมศึกษามากขึ้น แต่ผลสำฤทธิ์ที่แท้จริง คือ สร้างบุคคลากรที่ดีมีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม มีมากขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องมองกันด้วย ไม่ใช่เพิ่มแต่ปริมาณ แต่คุณภาพไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ปริมาณกับคุณภาพต้องไปพร้อมกัน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา ต้องมุ่งตรงที่ทำอย่างไรการสอบ การวัดผล จะมีคุณภาพ ที่พูดได้ชัดเจนว่าทำอย่างมีระบบและระเบียบ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ คือ ทำความเข้าใจทั้งผู้ปฏิบัติ และผู้กำหนดนโยบาย สำนักงานแม่กองธรรมฯ คือ ผู้กำหนดนโยบายแนวทางปฏิบัติ ขอให้เข้าใจว่า สำนักงานแม่กองธรรมฯ ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ออกมาผ่านความเห็นชอบโดยมส. องค์กรปกครองสูงสุดคณะสงฆ์ไทย หากถามว่าไม่ทำตามระเบียบผิดไหม ก็ต้องคิดว่าหาก มส.ให้ความเห็นชอบแล้วไม่ทำตามจะถูกไหม

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวด้วยว่า หน้าที่ของพระสงฆ์มีหลักๆ คือ 1.เผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 2.ปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบหลักธรรมคำสั่งสอน เป็นตัวอย่างที่ดีของพุทธศาสนิกชน พระสงฆ์ต้องเป็นต้นศรัทธาของชาวพุทธ การเป็นพระสงฆ์ จะทำอะไรต้องนึกถึงญาติโยม ที่เวลาถวายภัตตาหาร จะทำอย่างนอบน้อม พระสงฆ์ควรนึกอยู่ในใจตลอดว่า ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ชาวบ้านเห็นด้วย และคณะสงฆ์จะเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหา คดีความ    

ด้านพระมงคลเมธาวัฒน์ (ชวน จนฺทูปโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม ในฐานะเลขานุการรองแม่กองธรรมฯ และหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานแม่กองธรรมฯ กล่าวว่า ตัวอย่างของจังหวัดที่ดำเนินการจัดเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษาจนประสบความสำเร็จ เช่น นครราชสีมา มีศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) เป็นผู้ขับเคลื่อนผ่านเขตพื้นที่การศึกษา ประสานไปยังโรงเรียนในการร่วมมือกันจัดส่งครูมาอบรม และร่วมสอบธรรมศึกษา จนได้ผลเป็นอย่างดี ส่งผลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นครราชสีมา สนใจนำโรงเรียนในสังกัดเข้ามาร่วมโครงการด้วย จึงทำให้นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่สามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอน และการสอบธรรมศึกษา ได้ผลเป็นอย่างดี