ศรัทธาสาธุชนถวายผ้ากฐินสามัคคี วัดไผ่ล้อม ประจำปี 2563 ยอดเงิน 3,000,098 บาท

0
743

เมื่อวันที่ 11ตุลาคม 2563 เวลา 15.00 น. ที่วัดไผ่ล้อม  ตำบลพระปฐมเจดีย์  อำเภอเมือง  จังหวัดนครปฐม ดร.อัญชลิน  ดร.นภัสนันท์  พรรณนิภา บริษัท ที คิว เอ็ม อินชัวร์รันส์ โปรคเกอร์ เป็นประธานในพิธีถวายผ้ากฐินสามัคคี ณ วัดไผ่ล้อม พร้อมด้วย นายไพรัช สังวริบุตร ประธานบริษัท ดาราวิดีโอ, สามเศียร, ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น และ จ๊ะ ทิง จา ทีวี  นายสมชาติ  สาลีพัฒนา (เฮียเงี๊ยบ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสาย 4) อาจารย์แห้ว (หมอดูเทวดา) แห่งศาลเจ้าพ่อนาคราช จ.นครสวรรค์ คณะศิษยานุศิษย์วัดไผ่ล้อม   และศรัทธาสาธุชน ร่วมทอดถวายผ้ากฐินสามัคคี แด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส  ณ  วัดไผ่ล้อม ซึ่งคณะสงฆ์มีฉันทามติ   ให้พระครูปลัดสิทธิวัฒน์( หลวงพี่น้ำฝน)  เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม  ซึ่งองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ เป็นผู้ครองผ้าไตรกฐิน โอกาสนี้ประธานในพิธีและศรัทธาสาธุชน ร่วมถวายจตุปัจจัย ไทยธรรม ร่วมถวายกองกฐินสมทบ โดยยอดถวายปัจจัยกฐินสามัคคีวัดไผ่ล้อมประจำปี 2563  จำนวน 3,000,098 บาท  เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และบูรณปฏิสังขรณ์วัดไผ่ล้อมต่อไป

หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม กล่าวถึงความเป็นมาของกฐินว่า กฐิน เป็นภาษาพระวินัย เป็นชื่อเรียกผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้วรับมานุ่งห่มได้ กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร ผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลาทอดกฐิน หรือเทศกาลทอดกฐิน มีคำที่เกี่ยวกับ กฐิน หลายคำ เช่น องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน

ความเป็นมาของกฐิน มีบันทึกไว้ว่า ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบาก พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทางจากนั้นทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ คือ เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นหมวดหมู่) ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ   ความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้ จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้ จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป จำกัดคราว คือ วัดหนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง