ศธ. หนุน สพฐ. – สสส. เครือข่ายงดเหล้าและภาคีเครือข่าย มอบโล่รางวัลครูดีไม่มีอบายมุข 426 คน และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข 27 แห่ง

0
2356

ร่วมประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเสนอให้เกิดการจัดการศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขและการพนัน ให้ประเทศชาติ ในขณะที่ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า เด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี หรือกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด อาจเป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น


วันที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. นายอนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9) และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 4) ประจำปี พุทธศักราช 2562 ทั้งนี้นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้ โครงการครูดีไม่มีอบายมุข จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.), เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน, เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข ซึ่งได้คัดเลือกบุคลากรการศึกษาที่มีคุณสมบัติปลอดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด บุหรี่ และการพนัน อีกทั้งทำหน้าที่ ช่วยเหลือนักเรียน ชุมชน ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดอบายมุข เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข 4 ภาค ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และนำข้อเสนอให้เกิดการจัดการศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขให้ประเทศ เพื่อเป็นข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
นายอนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการครูดีไม่มีอบายมุข และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข เป็นโครงการที่ดี และมีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นรางวัลที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครแต่เป็นการแข่งกับใจตนเอง นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ครูดีไม่มีอบายมุข” ทำให้เห็นว่าการดำรงตนอยู่ในศีลธรรมปลอดอบายมุขเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมปรารถนาให้มี โดยเฉพาะผู้เป็นครู ซึ่งทำหน้าที่อบรมบ่มเพราะลูกหลานไทย การที่จะร่วมกันจัดการศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ ให้ประเทศชาติ ซึ่งมีผลต่อข้าราชการครู ตั้งแต่ระดับครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษาลงมาถึงเยาวชน ครอบครัว ให้ปลอดภัยจากอบายมุข เหล้า เบียร์ บุหรี่ การและพนัน ด้วยอบายมุขทำความเสียหายให้กับการศึกษา สังคม ประเทศชาติ โดยเฉพาะความเสียหายต่อเยาวชนที่กำลังเติบโต เขาต้องอาศัย พ่อแม่ และครู เป็นผู้บ่มเพาะหล่อหลอมให้มีปัญญา รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และให้มีศีลธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตต่อไป


นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีล่าสุด (2560) โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า เด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี หรือกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ที่ระบุว่าดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยนักดื่มประจำและนักดื่มหนักมีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (นักดื่มประจำ ข้อมูลปี 2557 จำนวน 703,885 คน ปี 2560 จำนวน 684,598 คน ส่วนนักดื่มหนัก ข้อมูลปี 2557 จำนวน 1,122,797 คน ปี 2560 จำนวน 1,005,462 คน ซึ่งในวันข้างหน้าประเทศไทยอาจมีเยาวชนที่เป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้เข้าร่วมการรับโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 453 คน เป็นโล่ประกาศเกียรติคุณประเภทครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9) จำนวน 426 คน ได้แก่ (1.)ระดับบุคลากรเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 18 คน (2) ระดับผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 83 คน (3) ระดับครูผู้สอน จำนวน 325 คน และโล่ประกาศเกียรติคุณโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข(รุ่นที่ 4) จำนวน 27 โรงเรียน


ดร.ประพจน์ แย้มทิม ผู้อำนวยการโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสาคร สพม.10 ประธานเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9) รับโล่โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข กล่าวว่า หลังจากการประชุมปฏิบัติการระดับชาติ “การจัด การศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ ด้วยคำพ่อสอน” ครั้งที่ 4 เครือข่ายครูดีไม่มีออบายมุข และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข 4 ภาค ได้มีการร่วมกันตั้งปณิธาน และร่วมกันหารือวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นข้อเสนอให้เกิดการจัดการศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขให้ประเทศ ต่อท่านเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
(1) ควรมีนโยบายที่สนับสนุนโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า เบียร์ บุหรี่ อบายมุข ที่ลงสู่ผู้เรียนโดยตรง เช่น โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน ครูดีไม่มีอบายมุข (2)ปรับปรุงหลักสูตรเรื่องการลดละเลิกเหล้าเบียร์บุหรี่อบายมุข ให้ครอบคลุมทุกประเภทการศึกษาและทุกช่วงวัย (3)สนับสนุนให้ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ได้รับการพัฒนายกระดับจิตวิญญาณ เพื่อเป็นแบบอย่างในการเลิกอบายมุข (4) กระทรวงฯ เป็นแกนหลักประสานความร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่องการปลอดเหล้า เบียร์ บุหรี่ อย่างเป็นรูปธรรม (5) สร้างขวัญกำลังใจแก่ครูดีไม่มีอบายมุขโดยกำหนดเป็นเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการเลื่อนวิทยฐานะ
นางสาวริมล โพธิ์ชัยรัตน์ โรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ ผู้รับโล่ครูดีไม่มีอบายมุขรุ่นที่ 9 กล่าวว่า กิจกรรมที่พานักเรียนทำคือ กิจกรรมพี่สอนน้อง คือพี่มัธยม ม. 3 สอนน้องประถม เขียนจดหมายขอให้พ่อ-แม่เลิกเหล้าเข้าพรรษาในปีที่ผ่านมา เมื่อผู้ปกครองได้รับจดหมายก็จะตื้นตันเพราะไม่เคยได้รับจดหมายจากลูกมาก่อน บางคนก็อาจจะรู้สึกผิด บางคนก็ประทับใจ และได้งดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา บางคนมีแนวโน้มว่าจะเลิกเหล้าตลอดไปเพื่อลูก นับว่าเห็นผลชัดเจน ตัวอย่างของทางโรงเรียนฯ เคสของน้องไปรท์ ที่เขียนจดหมายชวนคุณพ่อให้เลิกเหล้าได้สำเร็จ และมีโอกาสเข้าพบท่านนายกฯ พร้อมกับพี่มัธยมที่ทำกระบวนการพี่สอนน้องด้วย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ไม่ใช่สอนเฉพาะตัวบุคคลเอง ได้ช่วยเหลือครอบครัวและช่วยเหลือสังคมอีกด้วย ตราบใดที่ยังเป็นคุณครู จะทำหน้าที่เช่นนี้ จะสอนสิ่งที่ดีๆ จะเป็นแบบอย่างที่ดี จากที่ได้เข้ามาสัมผัสและเริ่มเข้ามาเป็นครูจิตอาสาในเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุขนี้เพราะตั้งใจทำเพื่อพ่อหลวง ร. 9 คนที่อยู่บนฟ้า ที่คอยมองดูพวกเราอยู่เสมอ ในขณะที่สังคมยังแย่อยู่เราต้องช่วยกันสร้างให้ดีขึ้นให้ได้

นางศศิธร บุตรเมือง ผอ.โรงเรียนบ้านสันดาบ สพป.สมุทรสาคร ผู้รับโล่ครูดีไม่มีอบายมุขรุ่นที่ 9 กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน และได้ทำกิจกรรมตามแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนเรื่องความพอเพียง ปลอดอบายมุขและ ตระหนักในโทษภัยของเหล้า บุหรี่ ในปีที่แล้วจึงได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนดีฯ รับโล่ในนามโรงเรียนดีไม่มีอบายมุขรุ่น 3 ปีการศึกษา 2561 และปีนี้ก็สามารถได้รับการคัดเลือกได้มารับโล่เป็นรางวัลครูดีไม่มีอบายมุขรุ่น 9 ปีการศึกษา 2562 ต่อเนื่องกันค่ะ สำหรับกิจกรรมให้ครูรักเด็กให้เด็กรักครูซึ่งจะทำให้เด็กและครู มีความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น มีกิจกรรมเยี่ยมบ้าน เพื่อจะได้รับทราบถึงปัญหาโดยจะนำมาวิเคราะห์กันเป็นรายบุคคลเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในชุมชน มีปัญหาเรื่องการดื่มเหล้าและการพนัน ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อทางโรงเรียนได้รับโล่โรงเรียนดีไม่มีอบายมุขมาแล้วนั้น ทำให้ชุมชนโดยรอบ มีความตระหนักมากขึ้นในเรื่องของอบายมุขต่างๆ