วัดราชประดิษฐฯ ร่วมกับศน.จัดพิธีเจริญนวัคคหายุสมธัมม์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๗ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒

0
841

วันนี้ (วันเสาร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ร่วมกับกรมการศาสนา(ศน.) จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๗ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ นายกฤษศญพงษ์ ศิริปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายกฤษศญพงษ์ กล่าวว่า การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ในครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจให้พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการนำหลักธรรมจากบทพิธีเจริญนวัคคหายุสมธัมม์ มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง ด้วยการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การสวดมนต์ หรือการเจริญพระพุทธมนต์มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตราย และทำให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อผู้สวดมนต์สวดด้วยความเคารพศรัทธาพร้อมกับแผ่เมตตา และทำใจให้สงบเป็นสมาธิก็จะทำให้พระปริตรนั้นมีพลังและอานุภาพยิ่งขึ้น

การสวดพระปริตรหรือพระพุทธมนต์อันเกี่ยวเนื่องกับหลักโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ดาวนพเคราะห์ประจำวันทั้ง ๙ คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ วันราหู (วันพุธกลางคืน) และวันที่สมมติอีก ๑ วัน ที่มีนามว่า พระเกตุซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองบุคคลที่ไม่ทราบวันเกิด ซึ่งหลักคัมภีร์ทางโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า ในวันทั้งเจ็ดนี้มีเทวดาคุ้มครองเกี่ยวข้องด้วยกำเนิดมนุษย์ อันอาจส่งผลให้เกิดคุณเกิดโทษ ทำให้เกิดทุกข์โศก โรคภัย หรือทำให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และอายุยืนยาวหรือสั้นได้ ซึ่งตามโบราณประเพณี เมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือมีอายุครบปีนักษัตร หรือรอบปีที่เป็นวาระสำคัญๆ ควรที่จะได้มีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ปราศจากโรคาพยาธิ มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีซึ่งเป็นเครื่องหมายคนดีตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ วัดราชประดิษฐฯ มีบทสวดมนต์ประเภทหนึ่ง เรียกว่า นวัคคหายุสมธัมม์ (นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ท า) แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกำหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ โดยปกติใช้สวดกันในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเท่านั้น และถือเป็นประเพณีปฏิบัติของพระสงฆ์วัดราชประดิษฐฯ ในการฉลองพระราชศรัทธาสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน โดยอาราธนาพระสงฆ์ 5 รูป สวดพระธรรมคาถาต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าเกณฑ์กำลังนพเคราะห์เฉพาะองค์นั้นๆ โดยมีข้อความเป็นภาษาบาลี เมื่อแปลแล้วจะได้หัวข้อธรรมสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ในเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และปฐมเจ้าอาวาสแห่งพระอารามนี้