“พระสังฆราช” ประทานคติธรรม การเผยแผ่พุทธต้องยึดหลักองค์แห่งธรรมกถึก ด้านอธิการมมร.ปลื้ม กว่า 40 องค์ร่วมพัฒนาสังคมตามแนวพุทธ

0
1693

สำนักข่าว thairnews – เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย(มมร.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรพระพุทธศาสนา ได้ร่วมจัดงานสมัชชาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 โดยมีพระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งกล่าวให้โอวาทเปิดงานว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) ทรงมีพระบัญชาให้ตนปฏิบัติหน้าที่แทนในการเปิดงานนี้ ดังนั้นจึงขอนำคติธรรมของสมเด็จพระสังฆราช ที่ประทานมาเนื่องในการจัดงานสมัชชาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใจความว่า

“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระอนุศาสน์องค์แห่งธรรมกถึกไว้ 5 ประการ คือ 1.กล่าวความไปตามลำดับ แสดงหลักธรรมตามลำดับความง่าย ยาก ลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป 2.ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจชัดในแต่ละประเด็น โดยการอธิบายขยายความ ไปตามเหตุและผล 3.แสดงธรรมด้วยเมตตาจิต มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่เขา 4.ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส มิใช่สอนเพราะมุ่งที่จะได้ลาภ หรือผลประโยชน์ตอบแทน และ5.แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น สอนตามหลัก ตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม โดยไม่ยกตน และไม่เสียดสีข่มผู้อื่น ท่านที่มาประชุมกันเพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นเรียบร้อย และเจริญก้าวหน้า จึงควรที่ทุกท่านจะทบทวนตนเองว่าเป็นนักเผยแผ่ผู้มีองค์แห่งธรรมกถึกครบถ้วนแล้วหรือไม่ เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทผู้สามารถดำรงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองมั่นคงอยู่คู่โลกสืบไปตราบนานเท่านาน”

พระพรหมมุนี กล่าวภายหลังพิธีเปิดงานว่า การเผยแผ่จะต้องเดินไปข้างหน้าเช่นเดียวกับกงล้อธรรมจักร คำว่า ธัมมจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะวัตติยัง แปลว่าหมุนไปข้างหน้า ล้อแห่งธรรมะไม่มีการถอยหลัง จักรคือธรรมแห่งล้อที่หมุนไป ดังนั้นวันอาสาฬหบูชาก็คือวันแห่งการเผยแผ่หลักการพระพุทธศาสนา ด้วยหลักธรรมคำสอน เมื่อมีคุณธรรมก็ต้องมีจริยธรรมด้วย ถ้ามีคุณธรรมแล้วไม่มีจริยธรรมหรือไม่มีการประพฤติก็ใช้ไม่ได้ มีคุณธรรมอย่างเดียวแต่ไม่มีจริยธรรมคดีต่างๆ ก็มีมากขึ้น ถ้ามีจริยธรรมคดีก็จะน้อยลง ดังนั้นจึงควรทบทวนว่า เราจะสอนธรรมอย่างไรให้คนนำไปประพฤติได้ตลอด ความก้าวหน้าในหลักธรรมคำสอนจะต้องหมุนไปตลอด ปัญหาทุกวันนี้มีแค่จริยธรรมก็น่าจะเพียงพอ เราอย่ารู้อย่างเดียวแต่ต้องนำมาปฏิบัติด้วย ที่พูดกันบนเวทีนั้นรู้ แต่อยากถามว่าปฏิบัติกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยสัก 50 เปอร์เซ็นต์ก็ยังดีเพื่อปัญหาจะได้ไม่เกิดขึ้น อยากฝากว่า สังคมจะไม่มีปัญหาหากมีการปฏิบัติตามกรอบแห่งจริยธรรมและความประพฤติ

ด้านพระเทพบัณฑิต (ธรณิศ ชาคโร) อธิการบดีมมร. กล่าวว่า มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยสงฆ์ องค์เครือข่ายชาวพุทธ รวมกว่า 40 องค์กรมาเข้าร่วมงาน ทั้งยังมีการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังการประชุมจะมีการสรุปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เสนอไปยังรัฐบาลด้วย เนื่องจากประเทศไทยวันนี้ มีเป้าหมายพัฒนาไปสู่ความเป็นประเทศไทย 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หากมองให้ทะลุในยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดคำสำคัญกำกับไว้ว่า “ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ สอดคล้องกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาว่าด้วย หลักความเป็นอยู่อย่างมีสติ การดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และหลักความสันโดษ การรู้จักประมาณตน หรือความพอเพียงจากการควบคุมตนเองอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ในทุกมิติ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องนำหลักพระพุทธศาสนาไปเป็นฐานในการพัฒนาประเทศชาติ เฉพาะหลักธรรมพื้นฐาน คือหลักเบญจศีลและเบญจธรรม อันเป็นธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์หรือหลักมนุษยธรรม หลักเมตตาธรรม เคารพและให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ยังประโยชน์สุขให้กับสังคมทุกระดับอย่างเหลือประมาณ

อธิการบดี มมร. กล่าวต่อไปว่า มมร.วันนี้จึงทำหน้าที่สืบสานพระราชปณิธานในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ด้วยหลักการ สร้างคนดีให้แผ่นดิน เพื่อให้คนดีนำหลักพระพุทธศาสนาไปสืบสานต่อยอดสร้างสังคมที่ดีในทุกระดับ ให้สามารถนำหลักพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม ดำรงชีวิตภายใต้สังคมบริโภคนิยมและระเบียบโลกใหม่ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพของตน สิ่งที่มมร.มุ่งหวังจากการประชุมสมัชชาการเผยแผ่ในวันนี้ ก็คืออยากได้ความร่วมมือร่วมใจกันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการเผยแผ่ให้เข้มแข็ง หลักคำสอนนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้ได้ทุกยุคสมัยเพราะเป็นอะกาลิโก เพียงแต่นำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนซึ่งการประชุมกลุ่มย่อยในภาคบ่ายก็จะทราบว่ามีแนวทางอย่างไร

“งานสมัชชาครั้งนี้มีเครือข่ายเข้าร่วมแล้วกว่า 40 องค์กร ถือว่ามากพอแล้ว จำแทบไม่หมดว่ามีหน่วยงานไหนบ้าง แต่ก็อยากให้มีเพิ่มมากๆ ขึ้นอีก ทางมมร.ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนซึ่งเป็นเครือข่ายหลักของการเผยแผ่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนและลงไปสู่ประชาชนทุกระดับได้มากขึ้น”