พระพยอม ชี้สังคมไทยศีลธรรมอ่อนแอลง เหตุผู้นำประเทศมองแต่เศรษฐกิจ “ดันหนุนคนดื่มเหล้ายันสว่าง” รอเกิดมิคสัญญีก่อนค่อยสำนึก

0
74

ด้าน “มูลนิธิเมาไม่ขับ” เผยหลังรัฐมีงดขายน้ำเมาวันพระใหญ่ ทำอุบัติทางถนนในวันสำคัญทางศาสนาลดฮวบ เฉลี่ย 20 รายต่อวัน ยันไม่ควรยกเลิกวันห้ามขาย

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567  พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี ให้สัมภาษณ์กับเพจขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ถึงแนวคิดการยกเลิกการห้ามขายเหล้าในวันพระว่า ถ้าถามไปยังผู้บริหารประเทศขณะนี้ว่า ให้เลือกระหว่างศีลธรรม กับ เศรษฐกิจ แน่นอนว่าคงได้คำตอบว่าเลือกเศรษฐกิจปากท้องเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะจะเห็นว่า ทุกวันนี้คนยังกินดื่มแบบ วันโกนก็ไม่ละ วันพระก็ไม่เว้น เช่น กรณีการปรับเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเวลาเดิมที่อนุญาตให้สถานบริการเปิด  ก็ขยับมาเป็น 04.00 น. หรือ เรียกว่าดื่มกันยันสว่างในสถานบริการ 5 พื้นที่นำร่อง

“การสนับสนุนให้คนทำแบบนี้ เป็นการทำให้ทุกวันนี้ความเข้มแข็งทางด้านศีลธรรมอ่อนแอลงเรื่อย ๆ มันอ่อนลงจากผู้นำประเทศ มันไม่มีเจ้าภาพคิดทำเรื่องพัฒนาศีลธรรม เหมือนเช่นผู้นำในอดีต ถ้าเป็นแบบนี้มันก็ต้องรอไปจนกว่าจะเกิดมิคสัญญี ฆ่ากันเป็นผักเป็นปลาก่อน ถึงจะรู้สึก ทุกวันนี้คนดีทำได้แค่เพียงแค่อยู่ให้เอาตัวรอดให้ได้เท่านั้น” พระราชธรรมนิเทศ กล่าว

ด้าน นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเมาไม่ขับได้รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันหยุดสำคัญทางพระพุทธศาสนาพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนเฉลี่ยวันละ 46 คน กว่า ร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิต พบว่า มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุ แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 5 วัน ได้แก่ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา  วันอาสหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา พบว่า สถิติผู้เสียชีวิตใน 5 วันดังกล่าวลดลงไปเฉลี่ย 20 คน เมื่อเทียบกับวันธรรมดา ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขของวันเลือกตั้งที่กำหนดให้เป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ด้วย ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับวันพระใหญ่  ตัวเลขการเสียชีวิตจาดอุบัติทางถนนที่ลดลงอย่างมาก นี่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ถ้ามีการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสม จะช่วยลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องคนไทยได้ โดยปราศจากข้อโต้แย้ง  จึงไม่ควรยกเลิกวันห้ามขายตามที่กลุ่มธุรกิจเรียกร้อง

“ความเป็นจริงแล้ว วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กฎหมายไม่ได้ห้ามดื่ม แต่ห้ามการจำหน่าย จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามปีหนึ่งมี 365 วัน งด 5 วันเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จะเป็นการดีต่อสุขภาพและประหยัดเงินในยามเศรษฐกิจขาลงด้วย และในทางกลับกันผู้ประกอบการร้านเหล้าผับบาร์ก็ยังได้ใช้โอกาสนี้ในการกำหนดให้เป็นวันพักผ่อนของพนักงานอีกด้วย  ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเชื่อว่าก่อนการเดินทางเข้าประเทศไหน ๆ ทุกคนได้วางแผนและศึกษาบริบท กฎหมายของแต่ละประเทศนั้นมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว  และที่สำคัญการกินดื่มไม่ได้นับเป็นแรงจูงใจหลักในการเข้ามาท่องเที่ยวบ้านเราเลย” ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าว

****************************************************************