ถกเข้มปัญหาธรรมศึกษา “แม่กองธรรม” เผย กศน.กว่าแสนคนได้เรียนแต่ขาดโอกาสเข้าสอบ ด้าน ศธ.จี้สำรวจจำนวนครูพระมีเพียงพอจริงหรือ

0
1680

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ห้องประชุมอาคารราชวิริยาลังการ วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม พระพรหมมุนี (สุชินอคฺคชิโน)  แม่กองธรรมสนามหลวง กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิตร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้เเจงการจัดการเรียนการสอนและการสอบธรรมศึกษาในสถานศึกษาปีการศึกษา 2561 เขตปกครองคณะสงฆ์หนกลางและกรุงเทพมหานคร โดยมี นายณรงค์ ทรงอารมณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ปฏิบัติราชการแทน ผอ.พศ. เป็นประธานฝ่ายฆราวาส  พร้อมกันนี้พระเทพศาสนาภิบาล รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ธ. ผู้แทนเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ ผู้แทนเลขานุการเจ้าสำนักเรียน ผู้แทนหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่พศ. ร่วมประชุมจำนวน 476 รู ป/คน

พระพรหมมุนี กล่าวให้โอวาทเปิดการประชุมว่า การจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในหลายปีผ่านมา ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เเต่ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยจากการมีผู้สอบในสนามสอบเพิ่มตามลำดับครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้เกี่ยวข้องจะมาร่วมขับเคลื่อนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะสงฆ์โดยมส. มีนโยบายนำการศึกษาด้านศีลธรรมเข้าสู่เยาวชนให้มากที่สุด  เพื่อสร้างให้คนในชาติมีคุณธรรม จริยธรรม น้อมนำเอาหลักพุทธศาสนาไปปรับใช้ในชีวิต และในปีนี้ยังคงขับเคลื่อนซึ่งตนได้พยามปรับยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้มีผู้เรียนและผู้สอบธรรมศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงอยากเห็นความร่วมด้วยช่วยกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการสนองนโยบาย มส. โดยคณะสงฆ์มุ่งหวังให้คนในชาติเป็นคนดีมีศีลธรรมเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ สำนักงานแม่กองธรรม และพศ. เป็นผู้สนองงานหลัก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้คนในชาติมีความปรองดอง มีคุณธรรม ผู้ใหญ่ในประเทศก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง อย่าเป็นแม่ปูสอนลูกปูให้เดินตรง

แม่กองธรรมสนามหลวง กล่าวอีกว่า ปีนี้สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ได้นำหลักสูตรเดิมมาแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 ช่วงชั้น คือ ประถม มัธยม อุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป ในแต่ละช่วงชั้นจะมีทั้งระดับธรรมศึกษาชั้น ตรี โท เอก เพื่อให้สอดคล้องกับความรู้ของแต่ละวัย หากสอบผ่าน จะได้รับประกาศนียบัตรทั้งหมด 9 ใบ ช่วงชั้นละ 3 ใบ ขณะเดียวกัน ปี 2561 นี้เป็นปีแรกที่จะมีการเปิดสอบให้กับสถานศึกษาอิสระหรือ กศน. ซึ่งมีผู้เรียนอยู่หลักแสนทั่วประเทศ แต่มีโอกาสสอบธรรมศึกษาน้อยมาก เนื่องจากการกำหนดวันสอบไม่ตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยจากนี้จะกำหนดให้สอบในวันหยุดแรก หลังจากสอบธรรมศึกษาในวันที่ 29 พ.ย. จากนั้นวันอาทิตย์ที่  2  ธ.ค. จะเป็นวันสอบของ กศน. เพื่อที่จะได้นำบุคคลเหล่านี้เข้าสู่ระบบการเรียนการสอบธรรมศึกษาตามวัตถุประสงค์ โดยตนจะนำเสนอเข้าที่ประชุม มส.เพื่อพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 9 มีนาคมนี้  และปีนี้ก็จะเป็นปีแรกที่จะเปิดให้มีการศึกษาธรรมศึกษาผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีขาวในสังคม ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาของแม่กองธรรมสนามหลวง

“การสัมมนาครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องการทราบปัญหาความขัดข้องต่างๆ หรือนโยบายที่จะดำเนินการต่อไปนั้นควรจะเป็นไปอย่างไร จึงเป็นโอกาสอันที่ดีคณะผู้ทำงานทุกรูปทุกคนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เป็นตามวัตถุประสงค์ ขอให้ร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนและประชาชนได้ซึมซับหลักธรรมคำสอนทั้งคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้สมกับได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบด้วยกัน เมื่อคณะสงฆ์ริเริ่มทำขึ้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความพร้อมด้านบุคลากรก็ต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน จึงขอฝากการสัมนนาครั้งนี้ว่าจะทำไร ที่ผ่านมา 4 ปีความก้าวหน้าหรือความขัดข้องมีอะไรบ้างที่จะต้องมาแก้ไขเพื่อสนองนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศชาติเป็นสุข มีความปรองดองสามัคคีกัน  และในวันที่ 9 มี.ค.นี้ อาตมาจะชี้แจงต่อที่ประชุมมส.ให้รับทราบสำหรับหลักสูตรใหม่และการกำหนดวันสอบของ กศน.ที่ปรับให้ตรงกับวันหยุดเพื่อจะได้มีผู้สอบมากขึ้น และจะได้มีหน่วยงานการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย” พระพรหมมุนี กล่าว

นายชัยชาญ ร่มโพธิ์กลาง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สป.ศธ. ในฐานะผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการเรียนธรรมศึกษาในปี 58 – 60 ตัวเลขในปี 59 มีผู้เรียนมากถึง 2.2 ล้านคน ปี 60 เพิ่มเป็น 2.3  ล้านคน เมื่อแม่กองธรรมฯอยากให้เพิ่มตัวเลขเป็น 4-5 ล้านคน แต่พอดูตัวเลขผู้ไม่ได้สอบเมื่อครั้งที่แล้ว มีจำนวนเป็นหลักล้านเช่นกัน จึงแสดงว่าปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ โดยเฉพาะผู้เรียนในสถานศึกษา กศน. ซึ่งมีทั้งกศน.จังหวัด กศน.อำเภอ ถ้ามีศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาปัญหาจะไม่เกิดขึ้นเลย และถ้าผู้บริหาร กศน.เชื่อมงานกับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดการบูรณาการก็จะเกิดขึ้น  และในปี 60 ก็ดีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ผลตามที่ต้องการ คือ การไม่ได้เข้าสอบของ กศน. ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ นับต่อจากนี้ตนจะให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นแม่งานระดับจังหวัด จัดให้มีการประชุมจัดทำแผนกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ให้เป็นแผนระดับจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศึกษาธิการจังหวัด เป็นรองประธาน สพฐ. เขตประถม มัธยมทุกเขต อาชีวะจังหวัด กศน.จังหวัดทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พศ. และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ. ) เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยเฉพาะปัญหาการไม่ได้สอบของ กศน. ที่กำหนดวันไม่ตรงกับเสาร์อาทิตย์ก็ต้องปรับแก้ให้มีการสอบให้ตรงกับวันเสาร์ อาทิตย์ ถ้ามีแผนระดับจังหวัดเกิดขึ้นก็จะสนองนโยบายของศธ.ที่ต้องการให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนหลักสูตรศีลธรรมหรือธรรมศึกษา

ผู้แทนจากศธ. กล่าวด้วยว่า  อยากขออนุญาตตรวจสอบครูพระว่าปัจจุบันมีจำนวนเท่าไร เพราะตัวเลขบอกว่ามี 3 หมื่นรูป บางข้อมูลก็บอกว่ามี 2 หมื่นรูป จึงทำให้คิดว่า ทำไมเด็กจึงสอบตก เป็นเพราะว่าไม่มีครูพระเข้าไปสอนจริงหรือไม่ ถ้าเรียนจริงๆ สอนจริงๆ ควรต้องสอบได้ ซึ่งแสดงว่าไม่ได้สอนจริงและไม่ได้สอบจริง เด็กสมัครเรียนแล้วแต่ไม่มีการสอน หรือที่ตกเพราะเพียงแค่ติวกันก่อนสอบ ดังนั้นการแก้ปัญหาของแม่กองธรรมฯ ตามยุทธศาสตร์ 5 ปี 10 ปี จึงควรมีผู้เรียนเพิ่มมากขึ้นแม้ว่าสถาบันการศึกษาแต่ละจังหวัดมีไม่เท่ากัน นักเรียนนักศึกษาของแต่ตำบลควรต้องมีห้องเรียนให้เขา ผมอยากให้ทุกตำบลที่มีโรงเรียนระดับประถมตำบลละ 2-3 โรงเรียน โดยคณะสงฆ์จัดให้มีครูพระเข้าสอนตำบลละ 2-3 รูป ผมไม่อยากให้เป็นเช่นจังหวัดกาญจนบุรีที่บางตำบลไม่มีครูพระแม้แต่รูปเดียว เรื่องนี้ต้องขอฝากทางแม่กองธรรมฯด้วย