“พระราชปริยัติกวี” รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นอธิการบดี มจร. พระพรหมบัณฑิต แนะอธิการฯรูปใหม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร

0
4320

ขอบคุณภาพทั้งมวล MCU TV

สำนักข่าว thai r news – วันนี้  (17 ส.ค. 2561) ที่อาคารมวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีพิธีรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งพระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร. โดยมีพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะอดีตอธิการบดีมจร. เป็นประธาน และผู้มอบพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยมีพระธรรมปัญญาบดี (พีร์ สุชาโต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในฐานะนายกสภา มจร. พร้อมด้วยคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหาร พระนิสิต ร่วมในพิธี

พระพรหมบัณฑิต กล่าวสัมโมทนียกถาว่า ครั้งนี้ตนมาในฐานะกรรมการมส. และอดีตอธิการบดีมจร.  ถือว่าเป็นการมอบงานอธิการบดีมจร.อย่างเป็นทางการ มจร.ได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกครั้ง หลังจากยุคที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นตนได้เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีมจร. และเป็นต่อเนื่องมา 5 สมัยติดต่อกัน รวม 20 ปี ตั้งแต่มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่ได้สร้าง จนปัจจุบันสร้างเสร็จสมบูรณ์ ทั้งยังมีการสร้างอาคารเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะที่เป็นอธิการบดีมจร.ครบ 4 สมัย ตั้งใจว่าจะวางมือ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้องอยู่บริหารงานอีก 1 สมัย และพอครบ 5 สมัย ก็ได้ยืนยันกับคณะกรรมการสรรหาว่า พอแล้ว ทั้งยังแถลงต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยด้วยว่า ต้องการให้บุคลากรท่านอื่นได้ขึ้นมาบริหารงานบ้าง เพราะมจร.ต้องอยู่ได้ด้วยระบบ ไม่ใช่อาศัยตัวบุคคล ซึ่งช่วงที่ตนเป็นอธิการบดีมจร. ได้วางระบบ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน คือ 1.การมีส่วนร่วม 2.โปร่งใส ตรวจสอบได้ 3.รับผิดชอบ 4.หลักนิติธรรม ต้องยึดตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะรักษามจร.ไว้  ใครจะมายุบไม่ได้ 5.ระบบคุณธรรม และ6.ระบบประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และหวังให้อธิการบดีมรจ.รูปใหม่ สานต่อระบบการทำงาน และยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานมจร.

พระพรหมบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า โครงการที่อยากฝากไว้ คือ โครงการในระดับนานาชาติของมจร. เช่น การจัดงานวิสาขบูชาโลก เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โลกรู้จักมจร. ทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นให้มจร.พัฒนาตัวเอง จนปัจจุบันหากชาวต่างชาติต้องการเรียนด้านพระพุทธศาสนา  ก็จะนึกถึงมจร. จนกล่าวได้ว่า มจร. เปรียบได้กับ มหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ประวัติโดยย่อ พระราชปริยัติกวี มีนามเดิมว่า สมจินต์ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2503 ณ ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ปีพ.ศ. 2525 หลังจากที่สอบได้ ป.ธ.7 ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า สมฺมาปญฺโญ

ตำแหน่งทางการปกครอง เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง

การศึกษา/วิทยฐานะ พ.ศ. 2514 นักธรรมชั้นเอก วัดเสาไห้ สำนักเรียนคณะจังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2528 เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดปากน้ำ กรุงเทพฯ พ.ศ. 2531 ศึกษาศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2534 พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา), มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2537 Ph.D. (Pali & Buddhist Studies), BHU, India

งานด้านการศึกษา พ.ศ. 2537 เป็นเจ้าหน้าที่ประจำกองวิชาการ มจร. พ.ศ. 2538 เป็นรักษาการผู้อำนวยการกองวิชาการ มจร. พ.ศ. 2540 เป็นผู้อำนวยการกองวิชาการ มจร. พ.ศ. 2540 เป็นรักษาการรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร. พ.ศ. 2541 เป็นรักษาการคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร. พ.ศ. 2541 เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร. (วาระที่ 1) พ.ศ. 2545 เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร. (วาระที่ 2) พ.ศ. 2549 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. (วาระที่ 1) พ.ศ. 2553 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. (วาระที่ 2) พ.ศ. 2557 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. (วาระที่ 3) พ.ศ. 2557 เป็นรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (รูปแรก) เป็นกรรมการและเลขานุการสภาวิชาการ มจร. เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประจำวิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มจร. พ.ศ. 2558 เป็นเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง พ.ศ. 2561 เป็นอธิการบดี มจร.

ผลงานวิชาการ แปลและแต่งหนังสือทางวิชาการ  พัฒนาการแห่งพุทธจริยศาสตร์, พัฒนาการแห่งความคิดแบบอินเดียโบราณ , กรรมและการเกิดใหม่, พุทธทัศนะเบื้องต้น, ปรัชญาแห่งนาคารชุน, พระพุทธศาสนามหายาน, พระพุทธศาสนามหายาน : พัฒนาการและสารัตถธรรม, พุทธปรัชญา : สาระและพัฒนาการ, คัมภีร์วิมุตติมรรค, ลังกาวตารสูตร, บูรณาการพุทธธรรมเพื่อเสริมสร้างพลังบริหาร

ผลงานการเรียบเรียง คู่มือปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย, คู่มือการเรียนการสอน วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๕, ประมวลการสอนธรรม โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน, พระพุทธศาสนาในจีน ทิเบต เวียดนาม ญี่ปุ่น, กฎแห่งความรัก (ปรัชญาความรักในพระพุทธศาสนา)

บทความทางวิชาการ  บทวิเคราะห์วัชรยาน ตอนที่ ๑-๕ (บทความทางวิชาการ), นาคารชุนกับปัญหาว่าด้วยกาล ภาวะและอภาวะ, แนะนำพระวินัยปิฎก, ปรัชญามาธยมิกะ, สืบค้นตรรกวิทยาในพระไตรปิฎกและวรรณกรรมพระพุทธศาสนา, วิพากษ์ทางสายกลางของอริสโตเติลกับมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนาเถรวาท, พระวินัย : กฎเกณฑ์และคุณค่าทางสังคม กำเนิดและพัฒนาการแห่งพระพุทธรูป, สถานการณ์ฯ พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน, เจดีย์ในพระพุทธ-ศาสนา, นิพพาน : อัตตาหรืออนัตตา, อานิสงส์ของการบริจาคอวัยวะตามหลักพระพุทธศาสนา:กรณีการบริจาคไต, ทางสายกลาง: วิธีบริหารจัดการชีวิตสู่ความสุขตามหลักพระพุทธศาสนา, ศึกษาวิเคราะห์แก่นธรรมจากชาดก ฯลฯ

ผลงานวิจัย  การศึกษาวิเคราะห์หลักจริยศาสตร์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา, พจนานุกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, บูรณาการพุทธธรรมเพื่อเพิ่มพลังบริหาร

ตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2542 เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สังกัดคณะพุทธศาสตร์ มจร. พ.ศ. 2548 เป็นรองศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สังกัดคณะพุทธศาสตร์ มจร. พ.ศ. 2559 เป็นศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สังกัดคณะพุทธศาสตร์ มจร.

เกียรติคุณ พ.ศ. 2546 รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา (เสาเสมาธรรมจักร) ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา

สมณศักดิ์ พ.ศ. 2528 มีสมณศักดิ์ทางวิชาการเปรียญธรรม 9 ประโยค ที่ พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ พ.ศ. 2551 โปรดเกล้าฯ ตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระศรีคัมภีรญาณ พ.ศ. 2559 โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชปริยัติกวี ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี