5 หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนต้นแบบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มอบโล่ครูดีไม่มีอบายมุข สร้างเครือข่ายเข้มแข็งที่โรงเรียน สู่คุณภาพผู้เรียนต่อไป

0
512

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการเป็นประธานพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ 198 ครูดีไม่มีอบายมุข รุ่นที่ 11 โดยมี อ.มานพ แย้มอุทัยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายชัยณรงค์ คำแดง รองผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงตัวแทนครูดีไม่มีอบายมุขเข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า รางวัลครูดีไม่มีอบายมุขเป็นรางวัลที่มีเกียรติ เพราะเป็นรางวัลที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร แต่เป็นการขัดเกลาตัวเองและทำดีเพื่อผู้อื่น โดยทุกท่านที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “ครูดีไม่มีอบายมุข” ทำให้เห็นว่า การดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ปลอดอบายมุข เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความเป็นครูที่เป็นต้นแบบ ซึ่งทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะนักเรียน อีกทั้งเจตนารมณ์ที่ยอดเยี่ยมของครูดีไม่มีอบายมุข และข้อเสนอที่มีต่อกระทรวงศึกษาธิการในการร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักและป้องกันในเรื่องอบายมุข ซึ่งเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงและความรุนแรงของเยาวชน ในฐานะหน่วยงานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอขอบคุณสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข และเครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน ที่ร่วมกันบูรณาการ การแก้ปัญหาเหล้า บุหรี่ การพนัน พฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ครูทุกคน ทุกโรงเรียนต้องร่วมกันบ่มเพาะคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 8 ประการให้กับผู้เรียนทุกคนเช่นกัน จึงเป็นการทำงานในทิศทางเดียวกันที่จะนำไปสู่คุณภาพผู้เรียนต่อไป

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การให้ความสำคัญกับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่ห้องเรียน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ทั้งในเรื่องของมาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ด้าน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ถึงและเกิดกับเด็กทุกคน และเป็นหน้าที่โดยตรงของครูทุกคนอีกด้วย หวังว่าครูดีไม่มีอบายมุขทุกท่านที่ได้ปฏิญาณตนได้นำคำพ่อสอนมาใช้ในการเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้เด็กเห็นครูเป็นไอดอล จากจุดเริ่มต้น “ให้ครูรักเด็ก ให้เด็กรักครู” จะนำสิ่งที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ ไปสู่การปฏิบัติลงถึงตัวนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลเชิงประจักษ์ และไปร่วมกันทำให้เกิดครูดีไม่มีอบายมุขในโรงเรียนของตนเองได้อย่างสมกับเป็นครูต้นแบบที่ได้รับรางวัลทรงคุณค่านี้ต่อไป

“สพฐ. ยินดีเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมประสานความร่วมมือดังกล่าว ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงการป้องกันอบายมุขในสถานศึกษา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้นักเรียนของเรามีคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ด้าน นางสาวอภิศา มะหะมาน ผู้ประสานงานโครงการครูดีไม่มีอบายมุข สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)สนับสนุนโดย สสส. เปิดเผยว่า พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ครูดีไม่มีอบายมุข ปีที่ 11 ปีการศึกษา 2564 และการประชุมปฏิบัติการการจัดการศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ ด้วยคำพ่อสอน โดยตัวแทนครูดีไม่มีอบายมุข รุ่น 11 ได้ประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอจากการประชุม วันที่ 4 ก.ย. ต่อประธานในพิธี พร้อมตั้งสัจจะอธิษฐานกล่าวปฏิญาณตน เป็นครูดีไม่มีอบายมุข สานต่อคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขให้กับประเทศ

สำหรับโครงการครูดีไม่มีอบายมุข ได้ดำเนินการมาเข้าสู่ปีที่ 12 โดยคัดเลือกเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูดีไม่มีอบายมุข เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานต่างๆ ดำรงตนให้ปลอดอบายมุข (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด บุหรี่ การพนัน) เป็นแบบอย่างแก่สังคม พร้อมทั้งนำศักยภาพของตนมาช่วยเหลือนักเรียน ชุมชน และสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อาทิ การลด เลิก อบายมุข และมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือนักเรียน บุคคลรอบข้าง ให้ลด เลิกอบายมุข พึ่งตนเอง และรู้จักการแบ่งปัน ด้วยการทำโครงการ “ครูเพื่อศิษย์ปลอดอบายมุขรับมือโควิด-19” สำหรับปีการศึกษา 2564 มีผู้ส่งผลงานความดีดังกล่าว เพื่อรับการคัดเลือก จำนวน 19,037 คน โดยมีผู้ได้รับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ ครูดีไม่มีอบายมุข จำนวน 198 คน ประกอบด้วย โล่ประกาศเกียรติคุณระดับบุคลากรเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 3 คน โล่ประกาศเกียรติคุณระดับผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 77 คน โล่ประกาศเกียรติคุณระดับครูผู้สอน จำนวน 118 คน และมีผู้ได้รับรางวัลเกียรติบัตร จำนวน 3,056 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 17 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 555 คน และครูผู้สอน จำนวน 2,484 คน

*****************************************************************