18 หมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบดีเด่นระดับภาคได้รับโล่รางวัล “พระพรหมมุนี” ยกพระราชกระแสย้ำให้พระสังฆาธิการตระหนักรู้หน้าที่

0
2246

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เป็นประธานมอบโล่ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบดีเด่น ระดับจังหวัด  และระดับภาคการปกครองคณะสงฆ์ ประจำปี 2561 โดยระดับจังหวัด มีหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้รับการคัดเลือก จำนวน 139 หมู่บ้าน จาก 77 จังหวัด  ส่วนระดับภาค มีหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้รับการคัดเลือก จำนวน 18 หมู่บ้าน ดังนี้ ภาค 1 หมู่บ้านสาขลา จังหวัดสมุทรปราการ ภาค 2 หมู่บ้านบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง ภาค 3 หมู่บ้านชอนสมบูรณ์ จังหวัดลพบุรี ภาค 4 หมู่บ้านด่านช้าง จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาค 5 หมู่บ้านน้ำพริก จังหวัดพิษณุโลก ภาค 6 หมู่บ้านหนองฮ่าง จังหวัดเชียงราย ภาค 7 หมู่บ้านเตาปูน จังหวัดลำพูน ภาค 8 หมู่บ้านโนนยาง จังหวัดหนองคาย ภาค 9 หมู่บ้านดอนดู่ จังหวัดขอนแก่น ภาค 10 หมู่บ้านภู จังหวัดมุกดาหาร  ภาค 11 หมู่บ้านยางใหม่ จังหวัดบุรีรัมย์ ภาค 12 หมู่บ้านคีรีวัน จังหวัดนครนายก ภาค 13 หมู่บ้านน้ำใส จังหวัดจันทบุรี  ภาค 14 หมู่บ้านคลองน้ำเค็ม จังหวัดนครปฐม ภาค 15 หมู่บ้านประสาทสิทธิ์ จังหวัดราชบุรี ภาค 16 หมู่บ้านวังฆ้องจังหวัดนครศรีธรรมราช ภาค 17 หมู่บ้านบางขยะ จังหวัดพังงา และภาค 18 หมู่บ้านทุ่งแหลกลาง จังหวัดสงขลา โดยมีพระสังฆาธิการในฐานะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เป็นผู้แทนเข้ารับการถวายโล่รางวัลระดับภาค และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาหจังหวัด(พศจ.) เป็นผู้แทนรับโล่ในระดับจังหวัด

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลขอขอบพระคุณคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ที่ได้ช่วยพัฒนาสังคมมาโดยตลอด เพื่อที่จะสร้างคนดี สังคมดี หากรัฐบาลทำงานเพียงลำพังก็คงไม่เกิดผล ซึ่งตนพบว่า โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 4 ปี ได้เห็นความก้าวหน้า มีการพัฒนาโครงการมาตลอด โดยโครงการที่คณะสงฆ์ได้ดำเนินการทั้งหมด ทุกโครงการขับเคลื่อนสังคม ช่วยให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งความสุขเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากเงินทอง แต่สุขอยู่บนพื้นฐานของความไม่เบียดเบียน ซื่อสัตย์สุจริต ครอบครัวที่เข้มแข็ง ไม่หลงผิดอบายมุขต่างๆ นอกจากนี้ ตนได้ลงไปเห็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อปต.)ในพื้นที่หลายจังหวัด  มีการส่งเสริมสัมมาชีพ ส่งเสริมศีลธรรม ถือว่า ทำงานเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 และโครงการวัดประชารัฐสร้างสุข จะทำให้วัดกลายเป็นที่พึ่งศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง

 

 

“ผมพยายามที่จะบูรณาการหน่วยงานที่ดูแลมาเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีสมาชิกชุมชนหมู่บ้านกว่า 13 ล้านคน ผมอยากเห็นกองทุนหมู่บ้าน เป็นกองทุนที่ดำเนินการด้วยระบบคุณธรรม หลายกองทุนพึ่งพาวัด บางกองทุนมีเจ้าอาวาสเป็นประธานกองทุน อยากเห็นให้เกิดการบูรณาการ โดยรัฐบาลได้ส่งงบประมาณไปอุดหนุนกองทุนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายแห่งประชาชนยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใสสุจริต ดังนั้น ผมจะนำหลักธรรมเข้าไปเชื่อมโดยใช้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เข้าไปเชื่อมกับงานกองทุนหมู่บ้าน หากทำได้สำเร็จ เชื่อว่า กองทุนหมู่บ้าน จะเป็นกองทุนหมู่บ้านคุณธรรมที่ทำให้สังคมไทยเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ในพิธีปิดการประชุมเชิงวิชาการฯ ในภาคบ่าย พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) ได้เดินทางมาเป็นประธาน มีพระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ หมู่บ้านรักษาศีล 5 พระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ประจำหนกลาง พระเทพศาสนาภิบาล (หลวงพ่อแย้ม) รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ในฐานะรองประธานกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ส่วนกลาง และนายณรงค์ ทรงอารมณ์ รองผู้อำนวยการปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ถวายการต้อนรับ

ทั้งนี้ พระพรหมมุนี กล่าวสัมโมทนียกถาปิดการประชุมว่า ย่อมเป็นที่รู้กับโดยทั่วไปว่าศีล 5 นั้นเหมือนหญ้าปากครอก ทุกพิธีทุกงานมีการรับศีลซึ่งรับกับมาเฉยๆ ไม่ได้ปฏิบัติตาม คำว่านับถือพระศาสนามี 2 คำ คือนับและถือ นับได้ว่าศีล 5 ศีล 8 หรือศีล 10 รู้หมด แต่ไม่ถือปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติกันจริงจังแล้วโครงการศีล 5 ก็คงไม่ต้องมี ที่จำเป็นต้องมีเพราะเราทั้งหลายต้องการให้ย้ำเตือน ระดมความรู้ในเรื่องศีล 5 ว่าจำเป็นที่จะต้องนำไปประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติในศีลของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่มีศีล 5 ในตัวตนจะโมเมว่าข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ก็จะยาก สังคมเรายังไม่เป็นสังคมที่สงบสุข การใช้หลักศีล 5 เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ มีความปรองดองกันจริงหรือเปล่า ต้องประเมินผลกันอีกกี่เปอร์เซ็นต์ สังคมถึงจะสามัคคีปรองดอง เมื่อมองไปไม่มีความปรองดองสักกี่เปอร์เซ็นต์ เราต้องไม่โกหกตัวเอง รู้กันอยู่ว่าสังคมนั้นเป็นอย่างไร ยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้งยังขนาดนี้ ถ้าเลือกตั้งจะขนาดไหน ถ้ายังไม่ทำกันหรือยังทำกันไม่เป็นสังคมจะปรองดองได้อย่างไร ปัจจุบันใครพูดผิดหูหน่อยก็โกรธ มองหน้ากันหน่อยก็โกรธกันขึ้นมา เป็นเพราะเราไม่มีคุณธรรมที่จะบังคับจิตใจ เราไม่มีขันติ ไม่มีโสรัจจะ ถ้าไม่มีตรงนี้จะไปรักษาศีล 5 ได้อย่างไร สังคมเรายังเป็นอย่างนั้น ทำอย่างไรให้สังคมเราเป็นสังคมที่มีความสุข โครงการศีล 5 นี้ดีมาก เราควรต้องประเมินว่าได้ผลถึงไหนบ้าง ดีขึ้นอย่างไร คดีความอาชญากรรมต่างๆ ลดลงบ้างไหม ถ้าชาวพุทธเรานำหลักศีล 5 ไปปฏิบัติกันจริงๆ ควรจะต้องลดน้อยลง

พระพรหมมุนี กล่าวด้วยว่า เหตุเหล่านี้จึงอยากฝากให้พระสงฆ์เราหันมองตัวเองว่าเป็นอย่างไรบกพร่องอย่างไรหรือไม่ เคยได้ยินได้ฟังว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชกระแสเกี่ยวกับพระสงฆ์ว่า พัฒนาความรู้พระสงฆ์ ทำอย่างไรให้พระสงฆ์ได้เป็นที่พึ่งของประชาชน และได้ฟังมาว่า ให้พระมีสำนึกต่อสังคมไทย นี่คือพระราชกระแส เป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน เรื่องนี้อาตมาได้นำไปกราบถวายต่อที่ประชุมมส. จึงมีมติมส.ออกมา และมีคำสั่งออกตามมาเป็นระยะๆ ทุกหนมีคำสั่งออกมา มติมส.นี้เป็นมติที่ 688 ออกมาให้คณะสงฆ์รับทราบโดยทั่วกัน  ทำอย่างไรให้พระสงฆ์นั้นรู้สึกและสำนึกซึ่งจะนิ่งนอนใจไม่ได้แล้ว ต้องสำนึกตัวเองว่ามีหน้าที่อะไร ทำตามหน้าที่หรือเปล่า พระสังฆาธิการทำตามหน้าที่หรือเปล่า วรรคสุดท้ายของมติมส.ที่ 688 บอกไว้ว่า ให้ยึดถือปฏิบัติให้เป็นไปตามจริยาพระสังฆาธิการที่มีอยู่ในกฎมส. เวลานี้ความรับผิดชอบของพระสังฆาธิการทุกระดับ มีจริยาอยู่ ในกฎมส. ที่เกี่ยวข้องนั้นมีอยู่ 2 ฉบับ กฎมส.ที่ 17 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌายะ และกฎมส.ฉบับที่ 24 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ทั้ง 2 กฎนี้มีระบุไว้ชัดเจนว่า จริยา ประพฤติจริยา รักษาจริยา และละเมิดจริยา กฎทั้ง 2 ฉบับนี้ระบุหน้าที่ของเจ้าคณะภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล มีหน้าที่ไว้ชัดเจน ถ้าเราทำตามหน้าที่ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น สิ่งไม่ดีไม่เกิดขึ้นต่อวงการคณะสงฆ์ ที่เกิดขึ้นเพราะเราไม่ทำตามหน้าที่ ไม่รักษาจริยาพระสังฆาธิการ ไม่เอาหน้าที่ ทอดธุระ ไม่เอาใจใส่ ปัญหาไม่ดีต่างๆ จึงเกิดขึ้น ทำให้เป็นปัญหาต่อคณะสงฆ์ ถ้าทำกันจริงจังๆ ปัญหาย่อมไม่เกิดขึ้น ถ้าพระสงฆ์เราทำตามหน้าที่ชาวบ้านเขาก็ให้ความนับถือ หลวงพ่อจะพูดว่ากล่าวอย่างไรชาวบ้านเขาก็นับถือ ให้ความสำคัญ เพราะหลวงพ่อเราเป็นพระที่ดี มีศีล มีความบริสุทธิ์ ไม่มีอคติ จะชี้ไปทางใดชาวบ้านก็เชื่อ เช่นเดียวกับโครงการรักษาศีล 5 ถ้าเอาจริงเอาจัง เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพของประชาชน ผมคิดว่าผลการประเมินต้องเป็นไปได้ตามที่ตั้งเป้าหมายให้เกิดขึ้นต่อสังคมของเรา