ไม่รู้ อย่าชี้.. (๑) กฎหมายทุบตู้บริจาค ล้วงย่ามพระ

0
2203

 

กระทั่งเป็นผีพระ.. ยังไม่ละเว้น สงสัยกรณีวัดพระธรรมกาย เรื่องที่ดิน ควรอ่าน..

 

ว่าจะพักเขียนสักระยะ เพื่อทำเรื่องการเรียนให้จบ.. เพราะเพื่อนเตือนว่า.. ถ้าไม่จบวุฒินี้แล้ว เขียนไปคนก็เชื่อน้อย.. แต่ก็จำเป็นต้องเขียน.. แม้จะไม่มีวุฒิสูงสุดมาโชว์.. ตามที่คนเขานิยมเชื่อกัน.. จะเชื่อหรือไม่ ก็ตามแต่จะพิจารณา เอาที่สบายใจละกัน..

ย้อนไป เมื่อ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) ปี ๒๕๓๕ ประกาศใช้.. อ่านดูแล้ว ยังติดใจอยู่ ๒ มาตรา.. แต่ตอนนั้น ยังเป็นผู้น้อย เลยไม่กล้าพูด..

พอถึงตอนนี้ ทราบข่าว (จากคำกล่าวของท่านผู้ใหญ่) ว่า มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (จะแก้ไขปรับปรุงของเดิม หรือนำ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๔๘๔ มาปรับปรุงใช้ ยังไม่ชัดเจน) อยู่ในชั้นพิจารณาของผู้เกี่ยวข้อง..

จึงต้องออกมาบอกว่า พรบ. คณะสงฆ์ ทุกฉบับที่ประกาศใช้ “ไม่ใช่พระธรรมวินัย” แต่มีเพื่อให้คณะสงฆ์บริหารกิจการพระพุทธศาสนาได้ โดยไม่ขัดกับพระธรรมวินัย และใช้กับคณะสงฆ์เท่านั้น

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นกฎหมายสำหรับใช้กับพระเณรในพระพุทธศาสนาสามแสนกว่ารูป เท่านั้น.. จะแก้ไขอะไร ก็ให้พระช่วยพิจารณาด้วยก็จะดี.. จะแก้ไข พรบ. คณะสงฆ์ ไปทางไหน.. ก็ตาม หากมีข้อความ ๒ มาตรานี้อยู่.. ช่วยแก้ไขด้วย คือ

๑. “มาตรา ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) มรณภาพ… ฯลฯ” และ

๒. “มาตรา ๓๑ วัดมีสองอย่าง

(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา          (๒) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป

คำอธิบาย/เหตุผล..

ข้อ ๑ ใช้มาตั้งแต่ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ แก้ไขปี ๓๕ ก็ใช้อย่างเดิม ไม่ได้แก้ไข.. จนปัจจุบัน..

ผมเห็นว่า น่าจะใช้คำกริยาตามมาตรานี้ เป็น “(๑) สิ้นพระชนม์” เพราะ ๑. มาตรานี้ เป็นมาตราเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชโดยเฉพาะ ๒. สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ใช้ราชาศัพท์เสมอ พระเจ้าวรวงศ์เธอ (ที่มิได้ทรงกรม) (บางแห่งระบุว่า พระองค์เจ้า คือ คำที่ต่อจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ)

สรุปคือ สมเด็จพระสังฆราช ใช้คำว่า สิ้นพระชนม์

ที่มา http://www.siamrath.co.th/web/?q=%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A)

๓. ราชบัณฑิตยสภา ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๖๙ และมีราชบัณฑิตยสถาน เมื่อปี ๒๔๘๕ น่าจะบัญญัติศัพท์นี้มานานแล้ว (ก่อน พรบ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ รวม ๒๐ ปี หรือก่อน พรบ. คณะสงฆ์ ๒๕๓๕ ก็น่าจะมีการใช้แล้ว)

คงไม่ต้องมาขยายหรือหาว่า ใครผิด-ถูก .. เพราะไม่ใช่เรื่องต้องมารื้อฟื้นอะไร หากจะมีการแก้ พรบ. คณะสงฆ์ใหม่ และหากมีหมวดสมเด็จพระสังฆราชด้วย ก็ใช้ให้ถูก.. หมดเรื่อง..

อาจเป็นความเคยชินว่า.. พระต้องใช้ มรณภาพ.. เพราะมาตรานี้ คนไม่ค่อยอ่าน หรือไม่ได้สังเกต.. มา ๕๐ กว่าปี..  จะอ้างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กม. ใดๆ มาแก้ คงไม่ได้ เพราะเป็น พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ที่เกี่ยวกับ สมเด็จพระสังฆราชโดยเฉพาะ..

ความในใจจากปี ๒๕๓๕ หมดไป ๑ เรื่อง..

๒. เรื่องเกี่ยวกับวัด มี ๒ อย่างมาตรานี้ ทำให้วัดหลายวัดเดือดร้อน เพราะนิยามไม่ชัดเจน .. เอาวัดกับสำนักสงฆ์ รวมเรียกว่า “วัด” ใน “มาตรา ๓๑ (๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา” นั้น ชัดเจนแล้ว.. และให้ประชาชนสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า จะทราบว่าเป็นวัดหรือไม่..ให้ดูที่โบสถ์.. ถ้ามีโบสถ์ ยืนยันได้ว่าเป็นวัด..
แต่ใน (๒) สำนักสงฆ์ ทำให้เกิดคำถามว่า แค่ไหน ? จึงจะเป็นวัด.. พอไปดูใน พรบ. สงฆ์ รศ. ๑๒๑ ซึ่งเป็นต้นแบบของ พรบ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ ระบุไว้ว่า สำนักสงฆ์ คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (คือยังไม่ได้ขอวิสุงคามสีมา) ส่วน พรบ. ๒๔๘๔ ก็เหมือนกับ พรบ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ ในมาตรานี้..

ก็ยังงงนิดๆ เพราะขั้นตอนที่จะเป็น “วัด” มี ๒ ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ “ขอสร้างวัด” และ “ขอตั้งวัด”

ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ประกาศใช้ในปี ๒๕๖๐ นี้ ระบุโดยสรุปว่า ๑. การขอตั้งวัดจะต้องขอสร้างก่อน..

๒. การขอตั้งวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะนำลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นขั้นตอนสุดท้าย

ดังนั้น นิยามของสำนักสงฆ์ จึงจะสิ้นสุดลงที่การประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา.. นั่นเอง..

แล้วทำไม.. ไม่ทำนิยามให้ง่ายๆ ว่า วัดมี ๒ อย่าง คือ “วัดมีสองอย่าง (๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (๒) วัดที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดแล้ว (ในราชกิจจานุเบกษา) แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา” (สรุปจากข้อยุติของการสนทนากันของกรรมการมหาเถรสมาคม ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม)

เท่านี้ ก็ชัดเจนว่า เป็นวัดทั้ง ๒ อย่าง ต่างกันที่ “ได้รับ/ไม่ได้รับวิสุงคามสีมา” เท่านั้น.. ไม่ต้องไปใช้ “สำนักสงฆ์” ให้เป็นปัญหาแก่วัดตาม (๒) แต่อย่างใด..

ที่กล่าวมานี้ มีความสำคัญกับกฎหมายข้ออื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป..

ข้อแรก คือ “ฆราวาสเป็นผู้ขอสร้างวัด จะโอนที่ให้วัดได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดแล้ว เท่านั้น” ถ้าจะโอนให้ก่อน จะต้องโอนถวายพระไว้ก่อน.. จะใส่ชื่อเป็นวัดรับโอนไม่ได้ เพราะยังไม่เป็นนิติบุคคล..

ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดแล้ว.. จึงจะโอนเป็นชื่อวัดได้..

ข้อสอง ปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น กรณีวัดพระธรรมกายหรืออีกหลายวัด.. ที่คนถวายที่ดิน โอนถวายก่อนตั้งวัด.. ด้วยเหตุหลายอย่าง เช่น กลัวจะตายก่อนไม่ได้ถวายวัด.. กลัวลูกหลานเบี้ยววัดไม่โอนให้ตามข้อตกลง.. ทั้งหมดเคยเป็นคดีความมามากแล้ว.. เช่นวัดพระธรรมกายดังกล่าว.. เหตุผลที่โอนเป็นชื่อเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพราะไม่สามารถโอนเป็นชื่อวัดได้.. แม้ต่อมา.. จะโอนหรือไม่โอนเป็นชื่อวัด.. เมื่อท่านมรณภาพ ก็ต้องเป็นของวัดอยู่ดี.. (จะกล่าวต่อไป)

ข้อสาม ปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ เรื่องการห้ามพระรับที่ดินโดยใส่ชื่อตนเอง.. และการรับที่ดินมรดก.. จะสร้างปัญหาให้กับวัดและพระมาก..

 

คงต้องต่อภาค ๒ เรื่อง “กฎหมายทุบตู้บริจาค.. ล้วงย่ามพระ.. จนกระทั่งเป็นผีพระ.. ยังไม่ละเว้น” เพราะยาวเกิน แต่ขอว่า.. ให้เอาความเห็นไปพิจารณา ถ้าจะแก้ พรบ. คณะสงฆ์ .. ไม่ใช่เอาเหตุนี้ไปเป็นเหตุแก้.. ละกัน