เวทีAMCA รับรอง “ปฏิญญายอกยาการ์ตาฯ” ส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมสู่สันติภาพอาเซียน ไฟเขียวปี ๒๕๖๒ “ปีวัฒนธรรมอาเซียน” ตามข้อเสนอไทย

0
1438

ชูใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นสื่อส่งเสริมความเข้าใจ-สร้างความสัมพันธ์อันดีทุกระดับ เชิญชวนรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-ประเทศคู่เจรจา ร่วมมหกรรมศิลปะนานาชาติ ที่ประเทศไทย

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (ASEAN Ministers Responsible for Culture and Art: AMCA) ครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า ผลการประชุมที่สำคัญ อาทิ ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญายอกยาการ์ตาว่าด้วยการน้อมรับหลักการวัฒนธรรมแห่งการป้องกันเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียน โดยปฏิญญายอกยาการ์ตา มีวัตถุประสงค์สำคัญเกี่ยวกับสนับสนุนวัฒนธรรมการป้องกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและระหว่างเสาความร่วมมือในด้านต่างๆ ในอาเซียน นอกจากนี้ ปฏิญญาดังกล่าวยังส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมความตระหนักในลักษณะเฉพาะของประชากรและสังคมที่หลากหลายในอาเซียนเพื่อการเป็นสังคมแห่งสันติภาพอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

นายวีระ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ให้พิจารณารับรองให้ปี ๒๕๖๒ เป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year) ซึ่งที่ประชุมฯสนับสนุนและรับรองการกำหนดปีวัฒนธรรมอาเซียนในปี ๒๕๖๒ ตามข้อเสนอประเทศไทย เพื่อใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นสื่อในการส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับ สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕ ที่ประชาคมอาเซียนจะเป็นประชาคมที่มีพลวัตและปรองดอง ตระหนักและภูมิใจในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและมรดกที่เสริมสร้างความสามารถและส่งเสริมประชาคมโลกเชิงรุกได้และเป็นการตอกย้ำว่าวัฒนธรรมเป็นรากฐานของความร่วมมือภายใต้สามเสาหลักทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบการดำเนินกิจกรรมภายใต้ปีวัฒนธรรมอาเซียน โดยเน้นกิจกรรมวัฒนธรรมอาเซียน ภายนอกภูมิภาคอาเซียน อาทิ กิจกรรมวัฒนธรรมอาเซียนสัญจร (ASEAN Cultural Roadshow) ในประเทศคู่เจรจา อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวในทวีปยุโรป ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมอาเซียนในรูปแบบต่างๆ ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นผู้ประสานงานในการดำเนินกิจกรรมและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและระหว่างประเทศต่อไป ที่สำคัญเป็นการนำวัฒนธรรมอาเซียนสู่สากล ทั้งนี้ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ต่างตอบรับและสนับสนุนกิจกรรมปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนปี ๒๕๖๒

ทั้งนี้ ตนได้นำเสนอและเชิญชวนผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อมาเยือนประเทศไทยและเยี่ยมมชมการจัดแสดงงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก ครั้งแรกในประเทศไทย (Thailand Biennale, Krabi 2018) ณ จ.กระบี่ วันที่ ๒ พฤศจิกายน – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ และกล่าวขอความร่วมมือในการเผยแพร่วีดีโอประชาสัมพันธ์โครงการ Thailand Biennale, Krabi 201๘ ซึ่งจัดทำเป็นภาษาต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ได้นำเสนอตัวอย่างภาพยนตร์แอนิเมชั่น “รามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร” จัดสร้างขึ้นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะและประเทศคู่เจรจาบวกสาม เนื่องจากมหากาพย์รามายณะ หรือรามเกียรติ์ เป็นวัฒนธรรมร่วมที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับอิทธิพลจากอินเดีย โดยปรับให้มีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของตนเอง ที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของประเทศไทยในการบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐