X

เยาวชนเครือข่ายนครศรีฯดีจังฮู้ กว่า 30องค์กร ร่วมจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติ 2562

ตอน เด็กคอน ส่งเสียง เพื่อเมืองคอน ชูแนวคิด “พลิกเสี่ยงเป็นสร้างสรรค์” พร้อมยื่นข้อเสนอ 5 ข้อต่อผู้ว่าฯ ด้านกลุ่มเด็กแว้นรวมกลุ่มอาสาทำดี เปลี่ยนไฟท้ายรถจักยานยนต์ ให้ประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 62 ที่ศาลาประชาคมโรงละคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กว่า 200 คน จาก 30 องค์กร ซึ่งรวมตัวกันในนามเครือข่ายนครศรีฯดีจังฮู้ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2562 ตอน “เด็กคอน ส่งเสียง เพื่อเมืองคอน” ภายในงานมีการออกบูทของกลุ่มเด็กและเยาวชน อาทิ บูทอาสาเปลี่ยนไฟท้ายรถเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน บูทศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น บูทกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บูทหนังสือเล่มละบาทจากมูลนิธิกระจกเงา และบูทกิจกรรมสร้างสรรค์อีกจำนวนมาก

นายองอาจ พรหมมงคล นายกสมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างกระแสต่อสาธารณะให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการปกป้องเด็กและเยาวชน โดยเห็นว่าเด็กและเยาวชนต้องเติบโตในพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์  มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  มีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง และสำคัญที่สุดคือมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดซึ่งเป็นบ้านของตนเอง

“เครือข่ายนครศรีฯดีจังฮู้ ดำเนินมาเมื่อปี 2559 ภายใต้การรวมตัวของ กลุ่มเยาวชน อ.สิชล อ.หัวไทร และ อ.เมือง จนมีการขยาย เป็น 26 กลุ่มคลอบคลุมทั้งจังหวัดในปี 2562 ภายใต้การขับเคลื่อนงาน 6 ประเด็น คือ 1.ประเด็นปัจจัยเสี่ยง (พลิกเสี่ยงเป็นสร้างสรรค์) 2.สืบสานภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมของดีเมืองนครฯ 3.ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ความมั่นคงทางอาหาร 5.ความปลอดภัยทางถนน และ 6.การรับมือและเท่าทันภัยพิบัติ มีหลายเรื่องที่เครือข่ายเยาวชนดำเนินการมาแล้ว ได้ผล กำลังขยายผลต่อ และมีหลายเรื่องที่อยู่ในช่วงดำเนินการ สิ่งสำคัญคือเยาวชนต้องการการสนับสนุนที่ดี ทั้งด้านการเปิดพื้นที่ การรับฟังเสียงเด็กและเยาวชนของผู้ใหญ่ในเมืองนครฯ มิใช่การคิดหรือสั่งการลงมาแบบเดิมๆ ซึ่งขาดความเข้าใจและไม่ยั่งยืน” นายองอาจ กล่าว

นายปิยพัทธ์ คงสวัสดิ์ แกนนำกลุ่มทุ่งใสหัวใจยิ้ม เครือข่ายนครศรีฯดีจังฮู้ กล่าวว่า พวกเราเคยเป็นกลุ่มเด็กแว้นในสายตาผู้ใหญ่ที่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่คนทั่วไป แต่ที่ผ่านมาพวกเราได้รวมตัวกันทำกิจกรรมอาสาเช่น เปลี่ยนหลอดไฟในโรงเรียน ทาสีกำแพงวัด และร่วมกับผู้ใหญ่ปรับปรุงศาลาริมทะเลซึ่งเคยเป็นพื้นที่เสี่ยงให้กลายเป็นที่รวมตัวกันคิด ทำกิจกรรมเชิงบวก และวันนี้ทางกลุ่มทุ่งใสหัวใจยิ้ม ได้ออกบูท “หิ้งห้อยอาสา เปลี่ยนไฟท้ายรถ ลดอุบัติเหตุ” มีบริการเปลี่ยนไฟท้ายรถจักรยานยนต์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะก่อนหน้านี้พบว่าการเกิดอุบัติเหตุในเวลากลางคืนมีปัจจัยร่วมสำคัญประการหนึ่งนอกจากปัญหาการเมาสุราคือการที่รถจักรยานยนต์ไม่มีไฟท้ายรถ ทำให้ยากแก่การมองเห็น

นางสุภาภรณ์ ชมชัย ผอ.สำนักงานศูนย์อำนวยการกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 22/2558 (ศอ.กต.) กล่าวว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นหน่วยงานหลักซึ่งมีภารกิจในการดูแลและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสนับสนุนเด็กหรือเยาวชนให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้โดยปกติสุข ซึ่งในการดูแลแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่สามารถดำเนินการได้แต่เพียงลำพังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดผลในเชิงป้องกันการก่ออาชญากรรมในเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กและเยาวชนไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำและเป็นคนดีของสังคมประเทศชาติต่อไป

“การป้องกันอาชญากรรมที่เกิดกับเด็กและเยาวชนเป็นการพัฒนาสังคมด้านหนึ่ง  และกรมพินิจฯ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการกำกับนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในการแข่งรถในทางและการจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา เพื่อระงับยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนที่เข้าไปในสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ และแก้ไขปัญหาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา และลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อปฏิรูปและจัดระเบียบในสังคม โดยอาศัยกลไกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ในการนี้ กรมพินิจฯได้บูรณาการจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานประสานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ปัญหาการแข่งรถในทางลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ตนมีความเห็นว่า การบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความยั้งยืน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงบวกเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้มีพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนได้แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันด้วยสำหรับปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรต้องรับฟังเสียงสะท้อนความต้องการของเด็กและเยาวชนอย่างเข้าใจ และเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพในตัวเองออกมา เชื่อว่าเด็กและเยาวชนแต่ละคนมีศักยภาพและมีพลังตัวเอง เพียงเราค้นหาศักยภาพและพลังในตัวเขาให้เจอเท่านั้น และหากเขาได้รับการส่งเสริมหรือกระตุ้นให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ทำให้สังคมมีความสงบสุขปลอดภัย” นางสุภาภรณ์ กล่าว

ทั้งนี้กลุ่มเยาวชน มีข้อเสนอเป็นแนวทางร่วมขับเคลื่อนเมืองนครศรีธรรมราช ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ เมืองที่น่าอยู่ โดยการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ผ่านทางนายสมพงษ์ มากมณี ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. ขอให้เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ สะอาด ปลอดภัย พื้นที่สำหรับเยาวชน และคนทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ 2.ขอให้มีกลไกท้องถิ่น ชุมชน ให้การสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมของเยาวชนในการเรียนรู้ สืบสาน และต่อยอดศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น  3. ขอให้มีกลไกจังหวัด และกลไกท้องถิ่นในชุมชน เปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมแสดงความคิดเห็นมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ชุมชน และร่วมกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์  4. อยากเห็นโรงเรียน และชุมชน มีหลักสูตรการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชนได้รู้วิถีชีวิต ตลอดจนภูมิปัญญาในท้องถิ่นตนเอง  5. ควรส่งเสริมให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเยาวชนในเรื่องของกฎหมายสิทธิเยาวชน ร่วมถึงเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศ

 

 

thairnews: