เปิดใจ… พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ แนวทางฟื้นฟูวัดกก(ร้าง) จ.ปทุมธานี “วิถีทางสายกลาง” นำร่องวัดต้นแบบ ภูมิสังคม รู้รักสามัคคี

0
2723

เปิดใจ… พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ แนวทางฟื้นฟูวัดกก(ร้าง)

“วิถีทางสายกลาง” นำร่องวัดต้นแบบ ภูมิสังคม รู้รักสามัคคี

         พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ประธานดำเนินงานฟื้นฟูวัดกก (ร้าง) จ.ปทุมธานี มีนัยยะยึดการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลาง สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัว สามารถปฏิบัติได้จริง

เนื่องจากวัดกก เป็นวัดที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เป็นผืนดินเปล่าๆ ฉะนั้นยิ่งต้องละเอียดรอบคอบ โดยต้องมีการวางแผนคิดค้นหาแนวทางในการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ต่อญาติโยมพุทธศาสนิกชนคนในชุมชนให้มากที่สุด ด้วยแนวคิด จะทำให้พื้นที่แห่งนี้มีคุณค่า และเป็นแบบอย่างในการพัฒนาวัดร้างสืบต่อไป ต้องทำให้เป็นต้นแบบ อย่างเป็นระบบ

“ในเบื้องต้นอาตมาได้ศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ สำรวจพื้นที่จากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้องชัดเจน เพื่อที่จะได้ทำอย่างถูกต้อง และรวดเร็วตรงตามที่ญาติโยมต้องการ หัวใจสำคัญ คือ อาตมาต้องการสร้างความเข้มแข็งให้คนภายในชุมชน ให้มีความพร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาวัดเสียก่อน ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ตั้งตัวหรือเตรียมพร้อม” หลวงพี่น้ำฝน เผยแนวคิด

การสร้างวัด ต้องเน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โยมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาวัดร้างจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน  ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างต้องประหยัด ถูกต้องตามหลักวิชา และเพื่อประโยชน์สูงสุด ทำให้มีมูลค่า คุ้มค่ามากที่สุด

“อาตมาเน้นภูมิสังคม เนื่องเพราะการพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยา เกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น เราเข้าไปดูว่า คนรอบวัดกกที่หมู่ 2 ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี แห่งนี้ เขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนาวัดนี้ขึ้นมา ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง” หลวงพี่น้ำฝน เน้นย้ำ

การบูรณะฟื้นฟูสร้างวัดกก วัดร้างแห่งนี้ อาตมาเน้นต้องประหยัด  เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ต้องการให้ญาติโยมได้มาวัดที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ นำโยมมาปลูกป่าในใจคน ฝึกดูแลรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์  กล่าวอีกว่า “อาตมาต้องการให้โยมทุกคนต้องเสียสละ เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชนนี้อย่างแท้จริง ถ้าโยมทำอะไรที่โยมเสีย แต่ในที่สุดสิ่งที่โยมเสียนั้นเป็นการได้ทางอ้อมในไม่ช้า โยมจะได้รับผลดี ถ้ารู้รักสามัคคี รู้เสียสละ คือการได้ทำให้ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้ และต่อไปในอนาคตวัดกก จะเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ โดยทรงเน้นเรื่องรู้รักสามัคคีและการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันด้วยการปรับลดช่องว่าง โดยเอาธรรมะเข้ามาช่วยขัดเกลา สอนให้รู้ รัก สามัคคี”

รู้  การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา

รัก  เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนความแล้ว จะต้องมีความรักการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ

สามัคคี การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี

วัดกก จักเป็นต้นแบบของการพึ่งพาตนเอง การพัฒนาตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 กล่าวคือเพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ญาติโยมสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อมและสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์  กล่าวถึงความยั่งยืนในการพัฒนาวัดร้างว่า “วัดต้องสอนโยมและเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงย้ำ แนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง วัดกก จะต้องเป็นวัดที่โยมมาแล้วมีความสุขกลับไป ต้องได้รับความรู้ควบคู่ธรรมะและคุณธรรม มีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น”

เรียนรู้การพออยู่พอกินเสียก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป  ขอให้ทุกคนมีความเพียร ไม่ท้อถอย  มีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน เพราะผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มากแต่ไมมีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ ฉะนั้นวัดกก จักเป็นต้นแบบแห่งความบริสุทธิ์ใจอย่างถ่องแท้จริง