เปิดตัวหนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” วธ.จัดพิมพ์เผยแพร่พุทธศิลป์ในพระอารามสำคัญทั่วประเทศ

0
2329

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่บริเวณชั้นล่าง อาคารที่ทำการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วธ. เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” โดยมี นายสมชาย ณ นครพนม ผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) กรมศิลปากร ให้การบรรยายสรุป มีคณะผู้บริหารวธ. ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ องค์การพุทธศาสนสัมพันธ์แห่งโลก ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย สภาวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานคร สมาคมเปรียญธรรมแห่งประเทศไทย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายวีระ กล่าวภายหลังการแถลงข่าวว่า วธ.มอบให้กรมการศาสนา(ศน.) จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ประวัติ ความสำคัญขององค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดินที่มีปรากฏมากมายตามวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย และมีศิลปกรรมหลากหลายสะท้อนความงามในเชิงช่างของยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ศิลปะสมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน ล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ โดยในเบื้องต้นนี้ วธ.ได้เลือกสรรพระพุทธรูปสำคัญ จำนวน 108 องค์ ที่งดงาม ปรากฏในตำนานเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน รวมถึงพระพุทธรูปที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารแห่งบูรพมหากษัตริย์ไทยในยุครัตนโกสินทร์ อาทิ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ และพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับจำนวน 108 องค์นี้  ได้ถือเอาตามเลขมงคลทางพระพุทธศาสนาในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกาที่ระบุไว้ว่า เป็นมงคลที่พราหมณ์เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งทรงประสูติได้ 5 วัน เหมือนดังเช่นที่ปรากฏในจำหลักลวดลายมงคล 108 ประการ ที่ฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)                                        

รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า หนังสือ “108 องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขียนคำปรารภเพื่อจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งงานพุทธศิลป์ของแผ่นดินไทยมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนร่วมสืบต่องานด้านพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร วธ.จะได้รวบรวมพระพุทธปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน ที่สำคัญอื่นๆ มาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป สำหรับหนังสือ “108 องค์พระปฏิมา พระพุทธรูป คู่แผ่นดิน” นี้ วธ.จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปดาวน์โหลดในรูปแบบ E-book ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th และเว็บไซต์กรมการศาสนา www.dra.go.th

“หนังสือนี้จะเป็นประจักษ์พยานว่า ประเทศไทยมีการสืบทอดพระพุทธศาสนามานานกว่า 1 พันปี และได้หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน พระพุทธศาสนาก่อให้เกิดการหล่อหลอมทางศิลปวัฒนธรรมที่ปรากฎในรูปสถาปัตยกรรมก็ดี จิตกรรมก็ดี ประติมากรรมก็ดี ที่สำคัญก็คือพระพุทธรูปที่ปรากฎอยู่ทั่วประเทศแสดงให้เห็นถึงการไม่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด เนื่องจากพระพุทธรูปเป็นหลักฐานที่ปรากฏอยู่และสืบทอดมาให้เราได้สักการบูชา ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาที่มีการรังสรรค์พระพุทธรูปเหล่านี้นับตั้งแต่สมัยทวารวดีเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังนั้นในโอกาสใกล้วาระดิถีวันขึ้นปีใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม  ขอเชิญชวนปวงชนชาวไทยไปกราบสักการะ 108 องค์พระปฏิมา ตามวัดวาอารามต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัว” นายวีระ กล่าว

ด้านนายสมชาย กล่าวในการบรรยายโดยสรุปว่า พุทธศิลป์ในประเทศไทยเริ่มเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 เมื่อมีการติดต่อค้าขายกันระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะเส้นทางที่ผ่านคาบสมุทรอินเดียมายังสุวรรณภูมิ ในภาคใต้ของไทยจะเห็นว่ามีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในศิลปะทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์มากมาย สิ่งที่พบเห็นคือเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 12 มีทั้งศาสนสถานและศิลปกรรมที่เป็นเทวรูปและพระพุทธรูป เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาก็ได้มีการสร้างสรรค์งานด้านพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปขึ้นมากมาย มีการแพร่กระจายจากภาคกลางถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือด้วย และอีกส่วนหนึ่งในภาคใต้ เมื่อผ่านพ้นยุคสมัยทวารวดีก็จะมีอิทธิพลของศิลปะเขมร ช่วงนั้นศิลปะทวารวดีเริ่มมีการควบรวมกับศิลปะเขมร จนมาถึงศิลปะลพบุรี ล้านนา และสุโขทัย จึงเห็นได้ว่าแม้แต่อิทธิพลของล้านนาก็ยังได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียที่ผ่านมาทางพุกามหรือพม่า ทำให้เกิดศิลปะที่งดงามเช่น “พระสิงห์” พระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น