“เจ้าคุณประสาร” ลงพื้นที่ร่วมกับโรงทาน มจร วิทยาเขตขอนแก่น ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

0
776

           เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.64 พระเมธีธรรมจารย์ (เจ้าคุณประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  เปิดเผยว่า ภายหลังจากการได้รับมอบเงินและเครื่องอุปโภคบริโภคจากผู้มีจิตศรัทธาในนาม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯแล้ว ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงทานครอบคลุมทุกภูมิภาคใน 6 แห่งทั่วประเทศ คือ ที่วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน เฉลิมพระเกียรติฯ วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมือง เพชรบูรณ์ และที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยในวันนี้(4 มิ.ย.) อาตมาเดินทางมาร่วมกับโรงทานวิทยาเขตขอนแก่นได้มอบเครื่องอุปโภค บริโภคให้อสม. เขตตำบลโคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น และออกไปมอบเงินและเครื่องอุปโภคบริโภค ถวายวัดบ้านเลิง และผู้ป่วยติดเตียงหลายคน ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพแรงงานภาค 4 โรงพยาบาลขอนแก่นสาขา 2 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอเมือง จ.ขอนแก่น

เจ้าคุณประสาร กล่าวว่า ข้อน่าสังเกตคือ ผู้ป่วยติดเตียงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ มาจากโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานทั้งนั้นเลย พอมาลงที่ไตก็รักษายากแล้ว น่าสนใจมากในเรื่องนี้ สุขภาพมวลรวมของคนในประเทศเรา อาหาร เครื่องดื่ม วิถีชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลให้ก่อเกิดโรคทั้งสิ้น นี่ขนาดคนในชนบทยังเป็นโรคเหล่านี้ไม่ใช่น้อย  ยิ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงจะยิ่งลำบากมากซึ่งปกติก็ลำบากอยู่แล้ว ยิ่งโควิด-19 แพร่ระบาดคนตกงานก็มากขึ้น รายได้ลดลงแน่นอน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

“อาตมาได้ลงพื้นที่ทำนองนี้มานับครั้งไม่ถ้วนประกอบกับส่วนตัวก็เป็นลูกชาวนาชนบทอีสานที่ยากจนอยู่แล้ว จึงมองเห็น รับรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวชนบทได้เป็นอย่างดี” เจ้าคุณประสาร กล่าว

รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร กล่าวอีกว่า วันนี้งบประมาณและแผนงานจะต้องลงไปในชนบทให้มาก การศึกษา การสาธารณสุข คุณภาพชีวิตของคนในประเทศจะต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจัง เช่น โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลสาธารณสุขตำบล จะต้องเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา วันนี้เราได้สูญเสียบุคลากรของชาติและงบประมาณของประเทศไปจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อการรักษา ซึ่งก็เป็นแค่ปลายเหตุ ในต่างจังหวัด ถ้ามหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ประจำอำเภอ และโรงพยาบาลสาธารณสุขตำบล ควรเน้นให้ความรู้ด้านสุขอนามัย และเน้นการการป้องกัน เช่น ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย การกินอยู่หลับนอนที่ถูกต้อง สุขภาพจิตที่ดีที่เอื้อต่อสุขภาพร่างกาย วิถีชีวิตประจำวัน เป็นต้น

“ขออนุโมทนาทุกท่าน ทุกคนที่บริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้ ขอทุกท่านจงมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัยอุปัทวันตรายทั้งปวง ตลอดกาลนาน เทอญ” เจ้าคุณประสาร เมตตาให้พร