“เจ้าคุณประสาร” ทำความเข้าใจเบื้องต้น “กม.สงฆ์” เป็นหน้าที่ของสงฆ์หรือยุ่งเกี่ยวการเมือง

0
708

กรณี พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ. ….  ที่เสนอต่อรัฐสภา

วันที่ 12 มกราคม 2563 พระเมธีธรรมาจารย์ (ท่านเจ้าคุณประสาร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 21 คนได้เข้าชื่อเสนอพระราชอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. …. ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 และได้มีการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 ณ รัฐสภา เกียกกาย นั้น

ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกัน ดังนี้ 1.ผู้นำในการเสนอพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ ส.ส.ดร.นิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย

ภูมิหลังนั้นท่านผู้นี้เป็นเปรียญลาพรต (เคยบวชเรียนเป็นพระมหา) และเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ส่วนกลาง จึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับพระสงฆ์สามเณรในทุกระดับรวมทั้งในมหาจุฬาฯด้วย ท่านจึงเข้าใจและปรารถนาดีต่อคณะสงฆ์ นี่คือคำตอบแรกว่า ทำไมต้องส.ส.นิยม เวชกามา

2.ทำไมมีแต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงชื่อสนับสนุน เหตุเพราะส.ส.นิยม เวชกามา นั้นสังกัดพรรคการเมืองพรรคนี้ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านใดเมื่อจะเสนอพระราชบัญญัติใดๆในสภาฯจะต้องแสวงหาพรรคพวกในพรรคตัวเองเป็นหลัก เมื่อพบกันในที่ประชุมพรรคบ้าง นั่งในห้องเดียวกันบ้างก็ขอแรงช่วยเซ็นเสนอพรบ.ให้หน่อยเพื่อให้ครบตามจำนวนชื่อที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรมชาติแบบนี้ด้วยกันทุกพรรค ทุกคน จึงไม่มีอะไรแปลกเป็นพิเศษ

     3.ทำให้พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ? เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะการเสนอพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้นหน้าที่ที่จะต้องเสนอนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้ รูปร่างหน้าตาควรจะออกมาอย่างไรนั้น อันนี้ละควรจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์และชาวพุทธที่จะต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ไม่เพิกเฉย พระสงฆ์จึงสมควรยิ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในส่วนของขั้นตอนนี้ องค์กรไหน หน่วยงานใดที่จะต้องเป็นผู้ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.นั้นๆ คนในองค์กรและหน่วยงานนั้นๆ ควรมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ ใครก็ไม่รู้มาตัดกางเกงให้อีกคนหนึ่งใส่ มันจะเข้ากันได้ไหม มันจะเหมาะจะสมไหม จะใช้ได้หรือไม่ อาตมาจึงเข้ามาในส่วนของขั้นตอนตรงนี้ ไม่ใช่ส่วนทางการเมือง

4.ทิศทางจะเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้เราควรจะทราบว่า เมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าชาวพุทธนั้นควรจะมีพ.ร.บ.ว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนากันเสียที ควรจะมีได้แล้ว เมื่อเห็นตรงกันอย่างนี้แล้ว ก็มีลูกศิษย์วัดที่ชื่อ ส.ส.นิยม เวชกามา ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาสาเสนอพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ให้อาจารย์ และแน่นอนว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งหมด แต่ก็ออกมาดีมากแล้ว พวกเราจึงควรจะสนับสนุนกันไหม ควรจะส่งเสริมหรือไม่ เพื่อจะให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและผ่านวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร แล้วไปตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ขั้นตอนนี้ละใครอยากให้แก้ใขตรงไหน อย่างไรจะปรับเปลี่ยนให้ไปในทิศทางไหน นั่นเป็นมหกรรมใหญ่ที่จะต้องมาช่วยกันระดมความคิดเห็น ในชั้นนี้อย่าพึ่งขัดขากัน อย่าพึ่งติก่อนเดิน ให้ผ่านด่านสำคัญที่ว่านี้ไปก่อน

5.และวาระสำคัญคือก่อนคลอดออกมาเป็นพ.ร.บ. จะต้องผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม(มส.)ในฐานะองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ก่อน

  ทั้งหมดที่กล่าวมา จึงอยากจะอธิบายบอกกล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าทิศทางและเป้าหมายของการเสนอ พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้นเป็นอย่างไร และทำไมจึงมีนักการเมืองคนนี้ พรรคการเมืองพรรคนี้รวมทั้งอาตมาซึ่งเป็นพระสงฆ์เข้าไปร่วมมีส่วนด้วย

ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันเดินไปข้างหน้าเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย ฐาตุ จีรัง สะตัง ธัมโม วันที่ 12 มกราคม 2563 #เจ้าคุณประสาร