เจ้าคุณประสารย้ำ มจร ไม่ได้วิกฤตด้านการเงิน ยังปกติไร้แรงกระเพื่อม

0
651

วันนี้ (3 ก.ย.64) พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยหรือ มจร  ได้ชี้แจงกรณีที่ปรากฏข่าวว่า มจร มีปัญหาด้านการเงินเพื่อนำมาใช้ในบริหารงานและอาจจะรวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ จนอาจจะมีแรงกระเพื่อมภายในสำหรับการบริหารอีกด้วยนั้น

พระเมธีธรรมาจารย์ ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงจึงขอทำความเข้าใจและชี้แจงเป็นครั้งที่ 2 ดังนี้

1.การปรับค่าตอบแทนประจำตำแหน่งนั้น มหาวิทยาลัยไม่ได้ประสบกับภาวะวิกฤตทางด้านการเงินจนก่อให้เกิดปัญหาดังปรากฏตามข่าว เพียงแต่อาตมาและฝ่ายวางแผนของมหาวิทยาลัยนั้นได้ศึกษาและวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในภาวการณ์ปัจจุบันว่า เราควรจะมีค่าตอบแทนในทุกตำแหน่งอยู่ที่เท่าไหร่ บนฐานของความเป็นจริงและในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งคือค่าตอบแทนในตำแหน่งเท่านั้น ค่าตอบแทนในตำแหน่ง ไม่ใช่ลดเงินเดือน เงินสวัสดิการหรือประโยชน์อื่นใดของบุคลากรเลย ขอลดส่วนนี้ลงบ้างชั่วขณะซึ่งก็เป็นส่วนที่เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยได้หามาเพิ่มให้ เติมให้ ไม่ใช่ตัดงบที่มาจากภาครัฐนี่คือข้อเท็จจริงที่ควรรับฟังและก็เชื่อว่าประชาคม มจร นั้นเป็นปัญญาชนคนมหาวิทยาลัยจะเข้าใจได้ไม่ยาก

ขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้ประสบกับภาวะวิกฤตทางการเงินจนต้องไปตัดสิ่งที่พึงมี พึงได้ของบุคลากรออกไป

2.ตำแหน่งทางวิชาการ (ผศ.,รศ.,ศ.) นั้นไม่มีมหาวิทยาลัยไดในประเทศนี้ที่มีเพดานจำกัดไว้ว่าจะต้องมีตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในสัดส่วนได้ไม่เกินจำนวนนี้ ให้ได้เท่านี้ ไม่มี มหาวิทยาลัยต่างหากที่จะต้องมีพันธกิจสำคัญที่จะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้คณาจารย์ทั้งหลายได้สร้างผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งให้มากขึ้น การมีอัตราส่วนของอาจารย์ในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมส่งผลในทางที่เป็นคุณต่อมหาวิทยาลัยมากขึ้นเท่านั้น นี่คือหลักสากลปฏิบัติของทุกมหาวิทยาลัย ส่วนจะมีวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งอย่างไร แบบไหน พิเศษหรือปกตินั้นก็ย่อมจะต้องเดินตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย กฎเกณฑ์ของ กพว.และทรวงอว.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือทางเดินและความเจริญก้าวหน้าของคณาจารย์สายนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยไดๆ ก็ไม่สามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ของตัวเองหรือยกคนของตนเองขึ้นมาได้โดยลำพังหรือกระทำการตามอำเภอใจโดยไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ รองรับ

ในทางกลับกัน ถ้ามหาวิทยาลัยไหนที่มีอาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในอัตราส่วนที่ไม่มาก สัดส่วนน้อย ไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสมย่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาในอีกด้านหนึ่งด้วย นี่ก็สำคัญ

สำหรับในระบบงบประมาณนั้น ระบบงบประมาณของประเทศไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น อาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการจะต้องได้รับการแต่งตั้งหรือโปรดเกล้าฯ ตามศักดิ์ของผู้ครองตำแหน่งทางวิชาการนั้นๆ เสียก่อน  เมื่อได้รับแต่งตั้งหรือโปรดเกล้าฯแล้วจึงจะนำคำสั่งนั้นๆ มาตั้งคำของบประมาณในปีงบประมาณถัดไป วิธีนี้จึงไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนจำกัดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ตัวเอง ปิดล๊อคตัวเอง ปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าและก็ไม่มีมหาวิทยาลัยใดๆในประเทศนี้ที่จัดทำคำขอโดยขอตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้ากับงบสำนักงบประมาณเพื่อเป็นการเผื่อหรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า (Anticipate) หรืออนุญาตให้ตีเช็คเปล่าไว้รอ ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เลย บางท่านบอกว่าเมื่อเทียบกับงบสวัสดิการการรักษาพยาบาลทำไมทำล่วงหน้าได้ในแต่ละปีงบประมาณ นี่คนละอย่าง คนละประเด็น คนละตรรกะเลย  และนี่ก็คือระบบงบประมาณของไทยที่พึงศึกษาให้เข้าใจ จะได้ไม่ไขว้เขวและมีหลักในการคิดการแสดงออก

3.ตำแหน่งของฝ่ายสนับสนุนการศึกษาคือ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ชำนาญงานและชำนาญงานพิเศษ ทั้งหมดนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐเลย แต่มหาวิทยาลัยก็ยินดีสนับสนุนเพื่อให้บุคลากรเกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและก็ได้จัดสรรงบประมาณจากรายได้ของมหาวิทยาลัยให้โดยในปีนี้ขอลดลง 50% ตามความเหมาะสม

4.การบริการหลักสูตรหรือโครงการพิเศษ ร้านค้ามหาจุฬาบรรณาคาร อาคารที่พัก 92 ปีปัญญานันทะและโรงพิมพ์มหาจุฬาฯ นั้นก็ล้วนเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นของการก่อตั้งหน่วยงานนั้นๆทุกประการ โดยยึดถือหลักธรรมของพระพุทธองค์เป็นบรรทัดฐานคือธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญ คืออปริหานิยธรรม 7 ประการ ประกอบด้วย

1.หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

2.พร้อมเพรียงกันเลิก

3.ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติ  ไม่เลิกในสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว

4.เคารพรับฟังคำสั่งสอนผู้ใหญ่

5.ไม่ห่มเหงล่วงเกินสตรี

6.เคารพเจดีย์(ปกป้องปูชนียสถาน)

7.คุ้มครองพระอรหันต์ บรรพชิต

พระเมธีธรรมจารย์ กล่าวต่อไปว่า การที่ออกมาชี้แจงวันนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วคิดว่าทุกฝ่ายคงจะเข้าใจและควรจะยุติกันได้เสียที มจร เรายังมีงานให้ทำอีกมากมาย เรามีเป้าหมายในการเดินทางไกล อย่ามัวแวะข้างทางให้เสียเวลาเลย หาประโยชน์มิได้  และก็มั่นใจว่าเท่าที่ได้พูดคุยและสัมผัสกับประชาคมส่วนใหญ่ใน มจร ทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ทั่วประเทศนั้นยืนยันว่าคนที่ทำงานหนัก คลุกคลีกับงานเสียสละเพื่อองค์กรเขาเข้าใจและไม่มีปัญหาใดๆ

“อาตมามั่นใจว่า วันนี้ มจร ยังปกติ ไม่มีแรงกระเพื่อม ไม่มีวิกฤตใดๆ ทั้งทางการบริหารและการงบประมาณ ยังเดินหน้าต่อไปได้ ที่ต้องปรับบางอย่าง บางประการนั้นก็เพื่อปรับตามโลกที่เป็นจริง ตามความเหมาะสม” พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวในตอนท้าย