เครือข่ายแรงงาน บุกทำเนียบ ตั้งวงกินข้าวกับมาม่าประชดรัฐ หลังค่าครองชีพพุ่ง สวนทางค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

0
234

พร้อมยื่นข้อเรียกร้องถึง “บิ๊กตู่” ทวงถามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ผ่านมา 3 ปีกว่าอย่าเฉย จี้สั่งการเร่งจัดเลือกตั้งบอร์ด สปส. หลังถูกดองมายาวนาน หวั่นเปิดช่องแทรกแซงการบริหารกองทุน ไม่โปร่งใส  พร้อมร่วมกันเทโหลยาดองล้อเลียน รมต.เจ้ากระทรวง ที่พยายามเตะถ่วง

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงาน นางศรีไพร นนทรีย์  ตัวแทนแกนนำเครือข่ายแรงงาน 8 องค์กร พร้อมด้วยผู้ใช้แรงงานกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมีข้อสั่งการไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เร่งรัดดำเนินการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมอย่างโปร่งใส ทั้งนี้เครือข่ายแรงงาน ได้มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำโหลยาดอง ซึ่งดองป้ายเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม มาเทเพื่อประชดความล่าช้า ความไม่จริงใจของ รมต.แรงงาน และได้นั่งกินข้าวเปล่ากับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อสะท้อนความยากลำบากของผู้ใช้แรงงาน ในยุคค่าครองชีพสูงข้าวของแพงแต่ค่าแรงยังต่ำ ทังนี้ นายนันทชัย  ปัญญาสุรฤทธิ์  รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้เดินทางมารับหนังสือจากเครือข่ายฯ

นางศรีไพร กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 กำหนดให้คณะกรรมการการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มาจากการเลือกตั้งโดยให้มีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนด้วย แต่ต่อมามีคำสั่ง คสช.ที่ 40/2558 แต่งตั้งบอร์ดสปส. ชุดใหญ่แทนชุดเก่า พร้อมออกคำสั่ง คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งตามมาตรา 8 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แม้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานลงนามเห็นชอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งดังกล่าว เมื่อวันที่8กรกฎาคม 2564 และได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา แต่จนถึงตอนนี้ 7 ปีแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เลือกตั้งอย่างไร ยิ่งตอนนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจข้าวของต่างๆ มีราคาแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นตาม ทั้งๆ ที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้กำหนดเป็นโยบายตอนหาเสียงว่าจะปรับค่าจ้าง 400-425 บาท นี่ผ่านมา 3 ปีกว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำตามที่พูดเมื่อไหร่

ด้าน นางสาวธนพร กล่าวว่า องค์กรแรงงานทั้ง 8 แห่ง ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้สปส. เร่งรัดจัดเลือกตั้งบอร์ด สปส.ใหม่โดยมีสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 พ.ร.บ.ประกันสังคม 2.ขอให้ สปส.ยกเลิกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในข้อ16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมพ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ควรให้สิทธิผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยมีสิทธิเลือกตั้งด้วย 3.ขอให้สปส.ยกเลิกและแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 3 และมาตรา 8 เรื่องที่มาของบอร์ดสปส.ในส่วนผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตนมาจากการแต่งตั้ง เพราะขัดกับหลักการการมีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนของผู้ประกันตนโดยตรง และเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายของกองทุน สปส.ได้ และ 4.ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่พรรคพลังประชารัฐได้กำหนดนโยบายในการหาเสียงไว้

“ที่ผ่านมาเครือข่ายได้ไปยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานมาแล้วหลายครั้ง  แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ทำให้มีคำถามว่าการเตะถ่วงแบบนี้มีวาระอะไรแอบแฝงอะไรหรือไม่ และมีใครได้ประโยชน์จากการยื้อไว้แบบนี้ ตอนนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นถึงการทำงานของประกันสังคม รวมถึงความโปร่งใสในนโยบายต่างๆ ที่ออกมา การมาในวันนี้ต้องการสื่อสารถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของรัฐบาลว่า  รมต.แรงงานของตัวเองกำลังมีปัญหา และเร็วๆนี้เราจะไปยื่นข้อมูลให้ฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ด้วย” นางสาวธนพร กล่าว

อนึ่ง องค์กรเครือข่ายแรงงาน 8 องค์กร ประกอบด้วย 1.สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย 2.สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย 3.สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย 4.กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง 5.กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 6.กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก 7.สหภาพคนทำงาน 8.เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ