เครือข่ายงดเหล้า และ สสส. รณรงค์ปลอดเหล้าประเพณีสงกรานต์ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

0
772

โดยใช้แนวคิด “ขอปีเดียว หยุดเที่ยว หยุดเมา เพื่อชาติ” พร้อมจับตาเฝ้าระวังการตลาดธุรกิจน้ำเมา

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานฯ กล่าวว่า ปกติทุกปี เครือข่ายงดเหล้าและ สสส.จะสนับสนุนเจ้าภาพจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าในพื้นที่ถนนตระกูลข้าว แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงร่วมกับเจ้าภาพปรับแผนงานเป็นการรณรงค์ให้ชุมชนรู้เท่าทันปัญหาการแพร่ระบาด รู้จักป้องกันตนเอง ปฏิบัติตามข้อสั่งการของราชการ และเป็นห่วงว่าจะมีกลุ่มคนที่ยังชอบสังสรรค์ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ยังคงต้องจับตาธุรกิจแอลกอฮอล์ที่ทำการตลาดโฆษณาออนไลน์ จัดส่งแอลกอฮอล์แบบดีลิเวอรี่ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะนำปัญหาไปสู่แพทย์และพยาบาลที่ต้องมาช่วยเหลือแก้ปัญหาคนเมาที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากธุรกิจน้ำเมาที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

ด้านนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า สงกรานต์ถนนข้าวเหนียวถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสงกรานต์ปลอดเหล้าอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งทำต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 16 แล้ว เดิมได้เตรียมการต่างๆ ไว้บ้างแล้ว แต่ต้องของดจัดไปก่อน ปีนี้ขอใช้สโลแกนรณรงค์ว่า “ขอปีเดียว งดเที่ยวเพื่อชาติ”  การรณรงค์ก็จะเป็นวิธีปฏิบัติตัวในช่วงสงกรานต์ โดยไม่ควรดื่มเหล้า ไม่ออกมาสังสรรค์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้  และรณรงค์ขอให้อยู่บ้าน โดยไม่ออกมาเล่นน้ำ สำหรับกิจกรรมด้านงานประเพณีจะงดทั้งหมด รวมทั้งตามวัดต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้โรงแรมในเมืองขอนแก่นหลายแห่งได้ออกมาประกาศปิดการให้บริการกันแล้ว

นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศกาลปี๋ใหม่เมืองของภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่  ในทุกๆ ปี จะมีประเพณีที่งดงามด้วยขบวนแห่ ขบวนวัฒนธรรม และโดยเฉพาะรอบคูเมือง ซึ่งเป็นจุดเล่นน้ำซึ่งมีความคึกคัก โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเครือข่ายงดเหล้าและสสส. ทำให้เป็นมิติใหม่ของการเล่นน้ำสงกรานต์มีความสนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวชื่นชมมาก แต่ในปีนี้ เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 จึงได้งดจัดกิจกรรม แต่ก็ยังเป็นห่วงว่าจะมีคนใช้โอกาสนี้ไม่ปฏิบัติตามการป้องกันของราชการ จึงได้ยกเลิกใบอนุญาตขายแอลกอฮอล์ของรอบคูเมืองทั้งหมด และจะทำการระบายน้ำรอบคูเมืองออกหมดเพื่อการควบคุมที่ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำทางวัฒนธรรมทางภาคเหนือ ที่ได้แนะนำแนวทางการทำตามประเพณี ซึ่งเป็นคุณค่าที่แท้จริงและมีความปลอดภัย โดยนายวัลลภ​ นามวงศ์​พรหม​ รองประธาน​สภาวัฒนธรรม​จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ พิธีกรรมอะไรที่พอจะปรับเปลี่ยน พอจะเลื่อนออกไปได้ ก็ขอให้ร่วมกันปฏิบัติ ให้โรคร้ายหมดไปซะก่อน แต่ปี๋ใหม่เมือง ยังสามารถจัดพิธีกรรมตามความเชื่อที่เป็นแก่นของวัฒนธรรมเดิม ที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกในวิถีชีวิตของคนล้านนา โดยไม่ได้ส่งผลกระทบมากมาย สามารถทำได้ในครอบครัวตนเอง  เริ่มจากวันสังขารล่อง ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายน เป็นวันแรกของกิจกรรมปี๋ใหม่เมือง โดยทั่วไปจะทำความสะอาดบ้านเรือน และในช่วงหลัง 24.00 น. ก็จะเริ่มจุดประทัด ซึ่งไม่ใช่การเฉลิมฉลอง แต่เป็นการไล่สิ่งชั่วร้าย ไล่เคราะห์ต่างๆให้ออกไปจากตัวและครอบครัว อาจจะถือโอกาสไล่โรคระบาดโควิด-19 ให้ออกไปจากบ้านเมืองเราด้วย  

วันที่ 2 เป็นวันเน่า ตรงกับวันที่ 14 เมษายน ตามประเพณีแล้ว วันนี้เป็น “วันดา” คือ วันที่ต้องเตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น ในวันนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับวันเน่า คือ ต้องพูดดีทำดี ห้ามด่า ห้ามพูดคำหยาบ ผู้ที่ถูกด่าหรือพูดไม่ดีก็จะอับโชคตลอดปี หรืออาจเกิดอุบัติเหตุเจ็บตัวได้  ต่อมาจะเป็นวันพญาวัน ตรงกับวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนศักราช เริ่มต้นปีใหม่ วันนี้จะมีการทำบุญ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันเข้า” ปีนี้ทางวัดขอปรับพิธี โดยให้ส่งตัวแทนมาถวายปิ่นโตอาหารได้ และควรดูแลตนเองตามข้อควรปฏิบัติที่ราชการแนะนำ(ใส่หน้ากากอนามัย)

ในวันที่ 4 คือ วันปากปี ตรงกับวันที่ 16 เมษายน ในเทศกาลปีใหม่เมือง ถือเป็นวันแรกของปี ชาวล้านนาจะทำ “แกงขนุน” หรืออาหารที่ทำจากขนุน มารับประทานกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนนำชีวิตให้ดีให้เจริญ ก้าวหน้า มีการดำหัวสามารถทำในครอบครัว ส่วนการทำพิธีสืบชะตาหมู่บ้านขอให้งดไปก่อน

อย่างไรก็ดีทางด้าน พระครูสมหมาย เจ้าคณะตำบลจันจว้าและเจ้าอาวาสวัดกิ้วพร้าว อ.แม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า ในขณะนี้ทางวัดมีการปรับเปลี่ยนการทำบุญมาแล้ว เช่น การตั้งเก้าอี้ให้ห่างกัน การมีเจลล้างมือ การแจกแมส วิธีการใส่บาตรไม่ใช้มือหยิบข้าว มีเครื่องวัดอุณหภูมิ เป็นต้น สำหรับช่วงสงกรานต์ วัดเตรียมตักบาตรเป็นข้าวสารอาหารแห้ง จะตั้งกระสอบเตรียมไว้สำหรับใส่ข้าวสาร ส่วนพิธีอื่นๆ อาทิ ตานขันเข้า ที่ส่วนใหญ่จะทำในวันพญาวันตรงกับวันที่ 15  ครั้งนี้จะปรับให้ทยอยกันมาถวายได้เรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ 1 จนถึง 14 เมษายน โดยจะได้ไม่ต้องมาพร้อมๆ กันได้ ทั้งนี้ทางวัดจะใช้เสียงตามสายประชาสัมพันธ์ให้คนในหมู่บ้านปฏิบัติตามได้ง่าย พระครูสมหมาย กล่าว

ถึงแม้ว่าประเพณีสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจะไม่สามารถเล่นน้ำสงกรานต์ ไม่ได้สาดน้ำกัน ไม่ได้ออกมาดื่มกิน ซึ่งที่ผ่านมาล้วนทำให้เกิดความสูญเสียมากเช่นกัน ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสอันนี้ที่ทำให้เราได้หยุดคิดถึงความพอดี อะไรที่มันเกินพอดีไปก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19  ขึ้นแล้วทั่วโลก ทั้งนี้ เครือข่ายงดเหล้าขอร่วมรณรงค์ ให้สงกรานต์ในปีนี้ ประชาชนทุกคนพร้อมใจกันอยู่ในบ้าน ลดความเสี่ยงไม่ออกไปรับเชื้อในที่ชุมชน เพื่อช่วยกันหยุดการแพร่กระจายเชื้อโรคในวงกว้างต่อไป “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ งดสูบ งดดื่ม” แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน