อัยการสั่งไม่ฟ้อง “อดีตพระพรหมดิลก” แต่งกายเลียนแบบสงฆ์

0
318

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความของอดีตพระพรหมดิลก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีหนังสือจากสน.สามเสน  แจ้งมายังอดีตพระพรหมดิลก หรือ พระมหาเอื้อน กลิ่นสาลี ระบุว่า ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ผู้เสียหาย ได้เข้าแจ้งความ พระพรหมดิลก หรือ พระมหาเอื้อน กลิ่นสาลี ผู้ต้องหา เรื่อง แต่งกายที่แสดงว่าเป็นภิกษุในศาสนาโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นบุคคลเช่นว่านั้น โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สามเสน เห็นว่า ควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา และได้ส่งเรื่องต่อไปยังพนักงานอัยการนั้น เรื่องนี้ทางพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง พระพรหมดิลก หรือพระมหาเอื้อน กลิ่นสาลี  และให้แจ้งผู้ร้องทุกข์ และผู้ต้องหาทราบ ต่อไป

นายอรรณพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคดีที่อดีตพระพรหมดิลก ตกเป็นผู้ต้องหาเกี่ยวกับคดีเงินทอนวัดนั้น ศาลได้พิพากษายกฟ้องแล้ว 1 คดี คือ ความผิดต่อพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเหลืออีก 2 คดี คือ คดีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิด ตามมาตรา 157 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอลงอาญา ขณะนี้อยู่ในชั้นฎีกา และสุดท้ายเป็นคดีทางแพ่ง ซึ่งสืบเนื่องมาจากคดีฟอกเงิน โดยคดีนี้ในชั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง และอยู่ในชั้นฎีกา เช่นกัน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่พศ. ยื่นฟ้องอดีตพระพรหมดิลก รวมทั้งอดีตพระเถระวัดสระเกศฯ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเงินทอนวัดนั้น สืบเนื่องจาก พศ. ได้เคยนำ เรื่อง การพ้นจากความเป็นพระภิกษุ กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา จากกรณีที่มีพระภิกษุถูกจับกุม กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เข้าหารือในที่ประชุมมส. เมื่อเดือนก.พ.2563 โดยพศ.ได้นำกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28, 29, 30 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาชี้แจง ดังนี้ 1.พระสงฆ์รูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน 3 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 2.พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไปควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ 3.เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขับพระรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น กรณีจำเลยยอมสึก ถอดจีวรออก เพราะถูกจับความผิดอาญา และพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว ต่อมาได้รับการประกันตัว กลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุอีก โดยมิได้อุปสมบทใหม่ จะมีความผิดฐานแต่งกายหรือใช้เครื่องแบบที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุสามเณรโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 208 พระภิกษุที่สละสมณเพศกรณีกระทำความผิดทางอาญาและศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมา สามารถเข้ามาบวชได้ 2.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและรอลงอาญา เมื่อพ้นจากระยะเวลาการรอลงอาญา สามารถเข้ามาบวชได้ เว้นแต่ 3.ผู้ที่พันจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสฆ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 หรือไม่ก็ตาม จะบรรพชาอุปสมบทอีกไม่ได้ และถ้าหากมารับบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวเท็จ หรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน1ปี

ดังนั้นเมื่อมส.ไม่ได้มีความเห็นคัดค้านตามที่พศ.เสนอ ทางพศ.จึงดำเนินการแจ้งความอดีตพระเถระที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเงินทอนวัดทั้งวัดสามพระยา และวัดสระเกศฯ ในข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ เนื่องจากพระเถระจากทั้งสองวัดดังกล่าวได้มีการกลับมาครองจีวรดังเดิมแล้ว หลังจากในคดีที่เกี่ยวกับเงินทอนวัดซึ่งอดีตพระเถระวัดสามพระยา และวัดสระเกศฯ ตกเป็นผู้ต้องหา ในหลายคดีศาลได้พิพากษายกฟ้อง และรอลงอาญาแล้ว

*****************************************************************