อบรมพระอุปัชฌาย์รุ่น 54 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ย้ำ สงฆ์มหานิกายบวชแบบอุกาสะ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เน้นยึดกฎมส. ฉบับ 26 บวชแล้วต้องสร้างให้เป็นพระดี

0
3963

วันนี้ (11 ก.พ.2562) ที่ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม หรือสอบความรู้พระอุปัชฌาย์ รุ่นที่ 54 ปี 2562 ระหว่างวันที่ 11-16 ก.พ. 2562พร้อมทั้งกล่าวเปิดการอบรม ว่า พระอุปัชฌาย์มีส่วนสำคัญที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญ หรือเสื่อมลงได้ เพราะพระอุปัชฌาย์มีหน้าที่ในการบรรพชาอุปสมบทให้กับผู้ที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และกฎมส. ดังนั้นคณะสงฆ์จึงต้องจัดฝึกอบรมให้กับพระสังฆาธิการที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามแบบอย่าง แบบแผนที่มีการกำหนดไว้ในหลักพระธรรมวินัย และกฎมส. ต้องกำกับการบรรพชาอุปสมบทให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ อย่าเผลอหลับในตอนทำหน้าที่ อีกทั้งต้องรักษาจารีตที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาไว้ ซึ่งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมส. ในฐานะประธานสมัชชามหาคณิสสร เคยให้โอวาทไว้ว่า การบรรพชาอุปสมบทนั้น คณะสงฆ์มหานิกาย มีการปฏิบัติแบบ อุกาสะ สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และขอให้ยึดเป็นแนวปฏิบัติในแบบเดียวกัน

ลำดับต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมส. กล่าวในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ พระอุปัชฌาย์ดี เป็นศรีพระพุทธศาสนา โดยเน้นย้ำให้ยึดกฎมส. ฉบับที่ 26 (พ.ศ.2546) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ และควรระมัดระวังที่จะบวชให้กับคนที่ต้องห้าม ซึ่งอาจจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ตามข้อ 34 ได้ จึงถือว่าข้อนี้มีความสำคัญมาก ข้อ 13 และข้อ 14 ก็สำคัญ ดังนั้นควรต้องศึกษาหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตั้งแต่ข้อ 12 ไปจนถึงข้อ 20 ซึ่งจะแบ่งหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ 3 หน้าที่ด้วยกัน คือหน้าที่ก่อนอุปสมบท หน้าที่ขณะอุปสมบท และหน้าที่ภายหลังอุปสมบทแล้ว แต่ข้อที่ 16 นั้นบอกว่าให้พระอุปัชฌาย์สอบสวนผู้จะมาบวชตามความในข้อ 13 และข้อ 14 ซึ่งปรากฎตามข้อปฏิญญาในใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และสอบถามผู้รับรองจนเป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันดีแล้ว จึงรับใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และใบรับรอง แล้วดำเนินการฝึกซ้อมผู้จะบวชต่อไป ส่วนข้อ 19 นั้นเป็นหน้าที่หลังจากให้การอุปสมบทแล้ว ตรงนี้ก็สำคัญเพื่อให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนา จึงควรถือเป็นภารธุระในการปกครองดูแลสั่งสอนสัทธิวิหาริกของตนให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ต้องขวนขวายให้ศึกษาพระธรรมวินัย และต้องออกหนังสือสุทธิตามความในข้อ 41 เพื่อแสดงถึงสังกัดถิ่นที่อยู่และความบริสุทธิ์แห่งสมณเพศ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ กล่าวด้วยว่า หน้าที่เหล่านี้ถ้าท่านทำได้แล้ว ก็สามารถสร้างเสน่ห์แก่ผู้บวชให้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน เป็นการสร้างปราการที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นแก่วัดวาอาราม คณะสงฆ์ พระศาสนา และสุดท้ายจะสามารถหล่อหลอมพระอุปัชฌาย์ให้เป็นอภิปูชนียบุคคลได้ หน้าที่เหล่านี้ถ้าเราสามารถทำได้ก็จะสามารถสอบผ่านการเป็นพระอุปัชฌาย์