“อนุชา” จี้พศ. ใช้เทคโนโลยีดึงคนรุ่นใหม่สนใจพุทธศาสนา เน้นย้ำสร้างความตระหนักรัก 3 สถาบันหลักของชาติ

0
601

 “อนุชา นาคาศัย” รมต.สำนักนายกฯ มอบนโยบายผู้บริหารพศ. เน้นย้ำให้หาทางนำเทคโนโลยีมาใช้ดึงคนรุ่นใหม่สนใจพระพุทธศาสนา ชี้การเผยแผ่ต้องทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2563) เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายแก่ข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) โดยมีนางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเข้าร่วม  โดยก่อนจะเข้าสู่ห้องประชุมพุทธมณฑล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เข้าสักการะพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

ทั้งนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้แก่ข้าราชการพศ. ว่า การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ พศ. สามารถสร้างความตระหนักรู้ เผยแพร่ และปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีความตระหนักรักในสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ในมิติทางด้านศาสนา ส่วนการทำนุบำรุงศาสนา ขอเน้นย้ำพศ. ดังนี้ 1.การดำเนินการตามกฎหมายคณะสงฆ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด รัดกุม รวดเร็ว เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ 2.การสนองงานคณะสงฆ์ ต้องทำอย่างเต็มที่ บนหลักการของความถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง กฎ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติมหาเถรสมาคม(มส.) 3.การคุ้มครองพระพุทธศาสนา ขอให้หาทางร่วมกับคณะสงฆ์ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและมาตรการสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง 4.การทำนุบำรุงศาสนสถาน ศาสนวัตถุ การจัดการวัดร้าง และศาสนสมบัติกลาง ขอให้ดำเนินการกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอเน้นย้ำให้ปรับปรุงฐานข้อมูลวัด ศาสนสถาน และศาสนวัตถุทั่วประเทศให้เป็นปัจจุบัน

5.การพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา ขอให้ดำเนินการเชิงรุก เริ่มจากสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีก่อน 6.ด้านพุทธศาสนศึกษา ให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 และควรให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษาและผลผลิตของการศึกษา 7.การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต้องทำในเชิงรุก ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย แก้ไขความเชื่อที่ไม่ตรงตามหลักคำสอน นอกจากนี้พศ.ต้องพัฒนาสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัลด้วย

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ความท้าทายของพศ. คือ คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาน้อยลง หรือมีความเข้าใจที่ผิด ทั้งยังรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องเก่า ขณะเดียวกันหลายวัดก็ขาดปัจจัยสนับสนุนอย่างเพียงพอ การสอนพระพุทธศาสนาที่ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ดังนั้นจึงอยากฝากแนวทางให้กับพศ. ดังนี้ การสร้างเนื้อหา หรือแนวทางการนำเสนอใหม่ๆโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อให้พระพุทธศาสนาเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเหมาะกับคนทุกวัย ทุกเชื้อชาติ การพัฒนาแหล่งข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมความถูกต้องของการส่งเสริมการเรียนรู้พระพุทธศาสนา การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา และการปรับปรุงศาสนสถาน ทั้งในเชิงกายภาพ เนื้อหา และการนำเสนอผ่านสื่อประชาสัมพันธ์