อนุกมธ.ศึกษากฎหมายพุทธ สืบข้อมูลผู้บริหารมมร. เดินหน้าปฏิรูปพุทธ “สมพร” ยันกมธ.ไม่ได้รับลูกจากไพบูลย์ นิติตะวัน

0
1900

จากการที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา และศึกษากฎหมายด้านพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นำโดยพล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ คณะกรรมาธิการฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ พร้อมคณะคณะอนุธรรมาธิการฯ เข้าหารือเพื่อรับฟังปัญหาด้านต่างๆ ในคณะสงฆ์จากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.)​ที่มมร. ศาลายา จ.นครปฐมนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการหารือ พล.อ.อ.อาคม กล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการฯ เดิมมีแต่คณะอนุกรรมาธิการด้านศาสนา ซึ่งต้องดูแลทั้ง 5 ศาสนาในประเทศไทย ทางคณะกรรมาธิการฯ โดยพล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นควรให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อศึกษา และพิจารณากฎหมายด้านพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ โดยมีตนเป็นประธาน และมีนายสมพร เทพสิทธา รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่หนึ่ง เป็นที่ปรึกษา ดังนั้นทางอนุกรรมาธิการฯ จึงต้องการเข้ารับฟังความคิดเห็นจากทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งมมร. และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) มหาเถรสมาคม(มส.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) โดยเป็นการสอบถามปัญหาเพื่อช่วยแก้ปัญหา ไม่ได้ต้องการมาแก้กฎหมายคณะสงฆ์

จากนั้นคณะผู้บริหารมมร. นำโดยพระเทพบัณฑิต อธิการมมร. พระเมธาวินัยรส รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มมร. พระครูปลัดกวีวัฒน์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มมร. ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า กฎหมายบางอย่าง เมื่ออกมาแล้วไม่มีการทำความเข้าใจกับพระสงฆ์ ส่งผลให้บางกฎหมายกลายเป็นเปิดช่องให้กลั่นแกล้งพระสงฆ์ เช่น กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่วัด ซึ่งบางวัดเจ้าอาวาสไม่ทราบว่าจะต้องติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ แต่กลับถูกคนมาแจ้งความ ทำให้เจ้าอาวาสต้องไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ ทั้งที่ไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการแสดงความเห็นในกฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมามาจากผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับงานคณะสงฆ์อย่างแท้จริง อย่างเช่น ข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้อง พิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา เป็นต้น

ด้านนายสมพร กล่าวว่า ยืนยันว่าทางคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้รับความเห็นของนายไพบูลย์ มาดำเนินการต่อแน่นอน อีกทั้งความเห็นของนายไพบูลย์ หลายเรื่องตนก็ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ตามที่รัฐบาลกำลังร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดกรอบการปฏิรูป 11 ด้าน และให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีอำนาจเพิ่มกรอบการปฏิรูปด้านอื่นอีกได้นั้น ซึ่งทั้ง 11 ด้านไม่มีด้านศาสนา ตนจึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้เพิ่มการปฏิรูปด้านศาสนา ทั้งขอให้มียุทธศาสตร์ด้านพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะด้วย ซึ่งขณะนี้ต้องรอผลการพิจารณาจากครม.