อธิบดี สถ. เปิดการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

0
623

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะจิตอาสา 904 วปร. หลักสูตรพื้นฐาน รุ่นที่ 1/62 เป็นประธานเปิดการบรรยายให้ความรู้เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย ขยายผลสร้างจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยด้านปัญหาภัยพิบัติ และการพัฒนาดิน น้ำ ป่าไม้ ตามแนวทางของศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ 9 และร่วมขับเคลื่อนตามศาสตร์พระราชาด้านการแก้ไขภัยพิบัติ ในกิจกรรมเวิร์คช้อปปฏิบัติการจิตอาสาพัฒนา เอามื้อสามัคคี ซึ่งจัดขึ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท เอามื้อสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มีทีมวิทยากรจากหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรประจำ” รุ่นที่ 2/61 “เป็นเบ้า เป็น แม่พิมพ์” เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ ในโอกาสนี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ทำการแทนผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พล.ต.วีรยุทธ กวยะปาณิก ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกและเลขานุการ ศูนย์อำนวยการจิตอาสากองทัพภาคที่ 3 นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยจิตอาสา 904 วปร. หลักสูตรพื้นฐาน รุ่น 1/62 และหลักสูตรหลักประจำ รุ่น 2/62 เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ณ ศูนย์การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

การบรรยายดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ผู้นำการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (นขพ.) ให้กับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลทั่วไปที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำจาก 7 ตำบล 104 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งหมดกว่า 300 คน ที่มีทั้งการบรรยาย และการลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการดิน น้ำ ป่า โดยใช้ทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานไว้เป็นแนวทาง ทั้งยังเป็นการมุ่งพัฒนาบุคลากรระดับผู้นำท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักคิด หลักทฤษฎี หลักปฏิบัติ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการสร้างผู้นำท้องถิ่นที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาขึ้นใหม่ที่มีจิตสำนึกเป็นจิตอาสา มุ่งทำความดีด้วยหัวใจ ถือเป็นการขยายผลการดำเนินงานตามโครงการจิตอาสาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง

จากนั้น อธิบดี สถ. ได้นำคณะร่วมทำกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 30 ฝาย เพื่อสานต่อแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้นจะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย” เพราะฝายจะช่วยกักเก็บน้ำและชะลอการไหลเวียนของน้ำได้ดี ป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำลำธารได้ โดยเฉพาะฤดูฝนที่เสี่ยงต่อกระแสน้ำที่รุนแรง อีกทั้งยังช่วยปกป้องหน้าดินช่วยลดการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยกักเก็บตะกอน ช่วยคงความชุ่มชื่นได้เป็นเวลานาน มีประโยชน์อย่างมากต่อระบบนิเวศน์ และความเป็นอยู่ของทุกสิ่งมีชีวิตบริเวณนั้นๆ อีกด้วย