อธิบดี สถ. ปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการทำงาน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน

0
722

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บรรยายพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนบทบาทภารกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับพื้นที่ โดยมีผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ กว่า 250 คน เข้าร่วมการสัมมนา ณ โรงแรมริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ

อธิบดี สถ. ได้ฝากถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) โดยขอให้ร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบายให้สัมฤทธิ์ผล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะต้องมีการสร้างความรับรู้และความเข้าใจ ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงคนในองค์กร ให้ได้รับรู้ถึงการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่ทำขึ้นเพื่อ “บําบัดทุกข์ บํารุงสุข” ให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะด้านการบริหารงบประมาณในด้านการของบประมาณเพื่อการบริหารหรือพัฒนา ที่จำเป็นต้องมีกรอบ มีนโยบาย มีการวางแผนที่ดีสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ต่างๆ หรือแผนงานต่างๆ โดยคำนึงถึงบริบท บทบาทหน้าที่ ภารกิจที่รับผิดชอบ และความต้องการของพี่น้องประชาชน

รวมถึงทางด้านการเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจในกฎหมาย ระเบียบใหม่ๆ ที่มีการบังคับใช้ และแนวทางต่างๆ ในการทำงาน เนื่องจากกระบวนการทำงานในปัจจุบันมีการประเมินความคุ้มค่า มีการติดตามตรวจสอบรายงานผล หากไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือไม่ปฏิบัติ ก็อาจเป็นเหตุให้โดนกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และอาจโดนฟ้องร้องได้ จึงขอฝากให้ทุกท่านได้เรียนรู้ และช่วยพัฒนาตนเอง และเพื่อนร่วมงาน ให้เป็นผู้บริหารที่ดีในอนาคต

อธิบดี สถ. ยังฝากเรื่องทัศนคติในการทำงานด้วยว่า ไม่ว่าเราจะมีความสามารถที่ดี (ability) รวมทั้งมีความรู้ดี(knowledge)แค่ไหนก็ตาม เราก็จำเป็นต้องมีทัศนคติที่ดี (attitude)เป็นสำคัญ ถึงจะสามารถทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ ประชาชนหรือเพื่อการ Change for Good ได้ ที่นอกจากการมีทัศนคติที่ดีแล้ว (attitude)จะต้องมีความรู้ความสามารถ (knowledge) และมีการกระตุ้น ปลุกเร้าให้คนร่วมทำ (mobility)ให้บรรลุผลด้วย ซึ่งทัศนคติในการทำงานที่ดีนั้น จะทำให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคงอยู่ได้ และพี่น้องประชาชนจะได้รับสิ่งดีๆ จากการที่ กรมฯ ส่งเสริมสนับสนุน อปท. ในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน เพราะทุกวันนี้ พวกเราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆมากมาย รวมถึงอยู่ท่ามกลางความข้องใจ ความสงสัยของพี่น้องประชาชน

ท้องถิ่นจังหวัด และท้องถิ่นอำเภอ จึงเป็นเสมือนโซ่ข้อกลางของกระทรวงและกรม ในการนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นงานที่หนักที่สุด เพราะต้องรับเรื่องราวต่างๆ จากผู้บังคับบัญชาไปถ่ายทอดให้ทั้ง 7,851 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำไปปฏิบัติต่อ แล้วยังต้องรับเรื่อง รับปัญหา รับข้อสงสัยจากทุก อปท. ซึ่งจำนวนบุคลากรก็น้อย ท้องถิ่นอำเภอก็ยังไม่มีในโครงสร้าง จึงต้องแบ่งคนจากท้องถิ่นจังหวัดไปช่วยงาน ซึ่งทาง กรมฯ ก็พยายามจะขอความเห็นใจจาก กพร. และ กพ. ให้อนุมัติคำขอปรับปรุงโครงสร้างให้มีท้องถิ่นอำเภอเป็นภูมิภาคให้อยู่ งานที่หนักเช่นนี้ ท้องถิ่นจังหวัดทุกคนจึงจำเป็นต้องมีความรอบรู้ ความเข้าใจในงาน เพื่อถ่ายทอดสื่อสารไปให้ถึงผู้ปฏิบัติให้ได้

ดังนั้น นอกจากต้องรอบรู้ในระเบียบกฎหมาย ข้อสั่งการแล้ว การทำงานของท้องถิ่นจังหวัด และท้องถิ่นอำเภอ ต้องมีความเป็นระบบ โดยคำนึงถึงวงรอบของห้วงเวลาวันสำคัญของชาติ วันสำคัญของโลก เพื่อวางแผนการทำงานล่วงหน้าให้เกิดสิ่งที่ดีแก่ท้องถิ่น โดยอาศัยวันสำคัญเป็นสื่อกลางสร้างงาน ไม่ใช่รอเวลาใกล้แล้วจึงดำเนินการ ซึ่งวัฏจักรของวงรอบงาน ที่ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่า แต่ละห้วงเวลาจะเกิดอะไรขึ้น จึงควรซักซ้อมดำเนินการล่วงหน้าตามแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นก่อน เช่น ช่วงเปิดเทอมก็จะมีเรื่องอาหารกลางวัน มีการสุ่มตรวจ มีการเยี่ยมดูแล ก็ต้องทำตั้งแต่ต้น ไม่ใช่รอให้มีปัญหาก่อน ถึงดำเนินการทำตามมาตรการที่วางไว้ ซึ่งอาจจะไม่ทันการ หรือเกิดความเสียหายไปแล้ว

แต่ทั้งหมดนั้นต้องเกิดจากใจ เกิดจาก passion ที่อยากทำดี นักวิชาการถึงบอกว่า ทัศนคติที่ดีในการทำงานมีความสำคัญเป็นลำดับแรก เพราะเมื่อเราทุกคนมีทัศนคติที่ดี มีความต้องการทำสิ่งๆ ดีให้เกิดขึ้น ศึกษาทำความเข้าใจเนื้องานแล้ววางแผนดำเนินการล่วงหน้าแล้ว ที่สำคัญที่สุด คือ ทุกท่านต้องเป็นผู้ที่สามารถประสานได้ทุกฝ่าย หรือที่คุ้นเคยกันว่าผู้ประสาน 10 ทิศ การทำงานถึงจะสำเร็จ งานถึงจะได้ผลดี เพราะไม่ใครในโลกนี้สามารถทำงานให้สำเร็จได้เพียงคนเดียว การมีทีมงาน หรือหลักการประชารัฐ จึงเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความผาสุกแก่ประชาชนในพื้นที่ แก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง และ กรมฯ ก็มีความเชื่อมั่นว่า พวกเราจะได้ประสบการณ์ ทักษะ แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้อย่างดีเยี่ยมต่อไปแน่นอน