อธิบดี พช. ลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แก่ครัวเรือนต้นแบบ

0
481

เน้นย้ำ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ learning by doing พลิกฟื้นวิถีชีวิตเกษตรกรสู่ความยั่งยืน

วันที่ 16 มกราคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายเสน่ห์ บุญสุข ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามความสำเร็จของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แก่ครัวเรือนต้นแบบ โดยมีนายศรีธรรม ราชแก้ว นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี และนายสุภาพ สุขแก้ว พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ พร้อมนำชมศูนย์เรียนรู้วงษ์ทอง (ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง) ณ บ้านรางกะทุ่ม หมู่ที่ 5 ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ขวาง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนกลาง และพี่น้องครัวเรือนต้นแบบ ครัวเรือเอามื้อสามัคคีที่ช่วยน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสุข ความหวัง ความรัก ความสามัคคี ที่เกิดขึ้นในครอบครัว กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปด้วย อันส่งผลให้มีการลดรายจ่ายด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว มีอาหารปลอดภัยรับประทานในครัวเรือน เน้นให้คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรักความสามัคคีผ่านกระบวนการเอามื้อสามัคคี จะเห็นได้จากหลักการบันได 9 ขั้น โดยพื้นฐานคือ เริ่มจากตัวเอง ต้องพออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น ต่อมาคือจะได้เผื่อแผ่ให้เพื่อนบ้าน ทำบุญทำทาน นำไปสู่การเก็บผลผลิต การต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ และขั้นสุดยอดคือ ทุกคนสามารถผนึกกำลังเป็นเครือข่ายกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจอย่างมาก คือ โครงการได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาดมี 25,000 กว่าครัวเรือน ใน 3,246 ตำบล ที่เข้าร่วมโครงการ มีเสียงเรียกร้องอยากให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีโอกาสชีวิตที่ดี และเป็นเรื่องโชคดีที่กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณในปี 2563 งบปกติกรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนได้ 32 ศูนย์เรียนรู้ 1,500 ครัวเรือนต้นแบบ และในปี 2563 จังหวัดสุพรรณบุรีมี 26 ราย และในงบประมาณปี 2564 งบปกติ ได้รับอนุมัติโดยประมาณ 14,000 ครัวเรือน งบเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้มาประมาณ 25,700 ครัวเรือน และได้งบเงินเดือนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) 9,000 บาทต่อเดือน รวมถึงโครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง พระราชทานให้กรมราชทัณฑ์ มีผู้สมัครเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 50 คนต้นแบบทั่วประเทศ มี15 ครัวเรือน ด้วยการสร้างโอกาสให้แก่บุคคลด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดให้ได้มีโอกาสกลับตัวและมีที่ยืนในสังคม เสริมสร้างสังคมไทยให้แข็งแรง ตามที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน โครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” โดยการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคกขุด หนอง ทำนา เป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก  โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิดการฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้เมื่อพ้นโทษออกไปสู่สังคมภายนอก

นอกจากนี้ แสดงให้เห็นถึงผลตอบรับที่ดีเกินคาดของการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นหนทางรอดของประเทศชาติอยู่ไม่ไกลเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ที่มีอยู่มากกว่า 40 ทฤษฎี 2 สิ่งนี้ จะเป็นเครื่องค้ำจุนให้ประเทศชาติเราอยู่รอดปลอดภัย โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปฏิบัติพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นการณ์ไกล ให้พี่น้องชาวไทยน้อมนำพระราชดำริพระองค์ท่านมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับสถานการณ์เกิดโรคระบาด ความแตกแยกในสังคม พระองค์ท่านก็ได้ทรงพระราชทานแนวทางแก้ปัญหาไว้แล้ว เห็นได้จาก ส.ค.ส. พระราชทานปี 2547 ที่ใจกลางภาพระบุว่า “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” ซึ่งสามารถทำได้ด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะกลายเป็น 4 เสาหลักช่วยกู้วิกฤตของโลกได้ ซึ่งคนเหล่านี้จะกลายเป็นต้นแบบ หัวหมู่ทะลวงฟัน ขณะเดียวกันจะเป็นครูพาทำ เป็นพี่เลี้ยง เมื่อทำงานเสร็จก็จะเห็นผลทันที เรื่องแรกคือ จะมีพื้นที่สวยงามเพราะปรับปรุงเป็นโคกหนองนา ตามหลักภูมิสังคม มี Landscape มีต้นไม้ มีแหล่งน้ำ เหมือนรีสอร์ทประจำครัวเรือน ประจำหมู่บ้านไปด้วย ขณะเดียวกันความดีของผลสำเร็จเห็นทันตา คือ จะพูดกันปากต่อปาก ขยายผลสำเร็จออกไป ที่สำคัญคือกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งให้ Gistda ไปทำระบบสารสนเทศ จัดทำภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่ทั่วประเทศ เราจะมีแผนที่ของประเทศไทยที่ลงรายละเอียดถึงสภาพพื้นที่จริง ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนมีเป้าหมายไว้ว่า 1 ตำบล ต้องดำเนินการได้ 1 ศูนย์เรียนรู้ และอยากเห็นครัวเรือนต้นแบบอย่างน้อย 20 ครัวเรือน เข้าใจว่า กรุงโรมยังไม่สามารถสร้างวันเดียวสำเร็จต้องใช้เวลา จึงเชื่อว่าครัวเรือนต้นแบบต้องมีความเข้มแข็ง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มีความสำคัญอย่างมาก ต้องเอาใจใส่ ขยัน ขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง ให้ประสบผลสำเร็จ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในลักษณะ Learning by doing รวมถึงได้เสนอแนะให้กับ พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และครัวเรือนต้นแบบให้มีการจัดทำปฏิทินแผนการปฏิบัติงานประจำวันแก่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบให้ชัดเจนสอดคล้องกับภารกิจ พร้อมให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านพัฒนาการจังหวัด ท่านนายอำเภอ และครัวเรือนต้นแบบดูแลนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเหมือนดูแลลูกหลาน ให้ฝึกฝนเรียนรู้จนสามารถช่วยเหลือตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ช่วยให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการปฏิบัติงาน เช่น ตอนกิ่งพันธุ์ต้นไม้จำหน่าย นอกเหนือจากเงินเดือนที่รัฐบาลมอบให้เดือนละ 9,000 บาท เพื่อเสริมสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ให้คำแนะนำความรู้ เป็นกำลังใจให้แก่ครัวเรือนต้นแบบทั้ง 323 ครัวเรือน ที่มีโอกาสเข้ามาสืบสาน สนองงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และจะดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่น และจะเป็นแรงสนับสนุนให้กับกรมการพัฒนาชุมชน อย่างต่อเนื่อง โดยความสำเร็จของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” มีผู้เข้าร่วมโครงการ 323 ครัวเรือน แยกออกเป็นงบปกติ 147 ครัวเรือน งบเงินกู้ ระยะแรก 88 ครัวเรือน ระยะที่สอง 88 ครัวเรือน ซึ่งมีผู้นำต้นแบบเข้ารับการอบรมที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรีและได้ดำเนินการต่อเนื่องพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้ จำนวน 7 ฐาน สามารถรองรับผู้มาศึกษาดูงานจากผู้ที่สนใจ สุดท้ายนี้ ก็ฝากความหวังของคนสุพรรณบุรีแก่กรมพัฒนาชุมชนในการพลิกฟื้นวิถีชีวิตแก่เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ช่วยเหลือตนเองและประเทศชาติต่อไป

“กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน พี่น้อง ชาว พช. ผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ร่วมในการขับเคลื่อนโครงการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้รับประทานภายในครัวเรือน มีอาหารไว้รับประทานอย่างปลอดภัยและเพียงพอ  เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ อีกทั้ง ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสมัครเป็นสมาชิก Fanpage Facebook “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช.” ด้วยการกด Like กด Share เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจร่วมกัน พร้อมเป็นการสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเอง ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเองในครัวเรือน จนเป็นอุปนิสัยเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชนทั่วโลกได้ชื่นชมต่อไป” อธิบดี พช. กล่าวเชิญชวน