อธิบดีกรมศิลปากร แถลงผลงาน “๑๑๐ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร”

0
635

วันนี้ (๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔) เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร แถลงผลงานเนื่องในโอกาส ๑๑๐ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร (๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔) ผลการดำเนินงานที่สำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ และแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ว่า กรมศิลปากรได้ดำเนินงานตามภารกิจในการขับเคลื่อนงานด้านมรดกวัฒนธรรมของชาติเพื่อให้งานมรดกศิลปวัฒนธรรมได้รับการพัฒนาสร้างสรรค์ บนหลักความถูกต้องทางวิชาการ มีคุณภาพและมาตรฐาน สังคมและประเทศชาติ จึงได้ประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษา เรียนรู้ และด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ช่วงที่ผ่านมากรมศิลปากร ได้ขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมของชาติ ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติได้รับการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม ได้รับการสร้างสรรค์ สืบสานและเผยแพร่ แหล่งเรียนรู้และแหล่งศิลปวัฒนธรรมได้รับการพัฒนา โดยดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ สานต่องานเดิม และเริ่มงานใหม่ ดังตัวอย่างผลงานสำคัญ ได้แก่

-การจัดการแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่ได้มาตรฐานระดับสากล การจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่มีความสง่างาม สมพระเกียรติ ในพื้นที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเพื่อเป็นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงบรมศพ และการก่อสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติให้ชาวไทยได้มีโอกาสเข้าชมและศึกษา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ให้ต่างชาติได้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง และมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๕๖๗

-การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากรปรับปรุงนิทรรศการถาวร ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้โครงการ อนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๕ ปัจจุบันได้ปรับปรุง นิทรรศการภายในหมู่พระวิมาน จำนวน ๑๔ ห้อง แล้วเสร็จตามแนวคิดการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของแท้ และคุณค่าผลงานชิ้นเอกบนผืนแผ่นดินไทย และคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมภายในพระที่นั่งองค์ต่างๆ ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในการสื่อสารเนื้อหาจากวัตถุสู่ผู้ชมอย่างพอเหมาะ ปีงบประมาณที่ผ่านมาได้ปรับปรุงการจัดแสดงมุขกระสัน อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พัฒนาระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ และสุดท้ายในปีงบประมาณพ.ศ. ๒๕๖๔ จะเป็นการพัฒนาการจัดแสดงอาคารมหาสุรสิงหนาท จากนี้ไปผู้เข้าชมจะได้สัมผัสพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโฉมใหม่ที่มีความทันสมัย และยังคงไว้ด้วยคุณค่าของมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย

-การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน จังหวัดนราธิวาส โดยกรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวมุสลิม จึงดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน  เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยรวบรวมองค์ความรู้ และระดมแนวคิดในการจัดตั้ง การออกแบบและการจัดแสดงนิทรรศการ รวมทั้งงานอนุรักษ์คัมภีร์อัลกุรอานและศิลปวัตถุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตัวอาคารเริ่มก่อสร้าง ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีกำหนดแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน และมรดกวัฒนธรรมอิสลาม เสริมสร้างให้คนในท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นคุณค่าความสำคัญ เกิดความรู้สึกรัก หวงแหน ภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลามที่มีอยู่ในท้องถิ่น

-การก่อสร้างอาคารและการจัดแสดงนิทรรศการเครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา กรมศิลปากรได้มีนโยบายในการปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเพื่อยกระดับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้ทันสมัยได้มาตรฐานสากล โดยก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม สำหรับจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องทองอยุธยาโดยเฉพาะ ประกอบด้วย เครื่องทองคำที่พบจากกรุวัดต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ กรุวัดราชบูรณะ กรุวัดมหาธาตุ และจัดแสดงพระบรมสารีริกธาตุที่พบจากวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังมีสิ่งของล้ำค่าอีกมากมาย จากผู้ศรัทธาถวายเป็นพุทธบูชาในอดีตกาล โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ จะเป็นการดำเนินงานจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารเครื่องทองอยุธยาระยะสุดท้าย ความคืบหน้าของการดำเนินการทั้งหมดใกล้แล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้

-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่พบแหล่งโบราณคดีอายุกว่า ๒๗,๐๐๐ ปี กรมศิลปากร จึงมีนโยบายยกระดับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประจำภาคตะวันตก อีกทั้งแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ยังเป็นสถานที่อันสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามระบบสากล เป็นครั้งแรกในไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ นิทรรศการหลักจะนำเสนอข้อมูลหลักฐานและองค์ความรู้เกี่ยวกับคนที่บ้านเก่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาการของผู้คนในลุ่มน้ำแควน้อย – แควใหญ่ ที่สืบเนื่องมาจากสมัยหินเก่าสู่สมัยหินใหม่ และหัวข้อสุดท้ายคือ บ้านเก่าในปัจจุบัน  อาคารจัดแสดงหลังใหม่นี้จะใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล พร้อมเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ ด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันตกของประเทศไทยได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมให้บริการในเร็วๆ นี้

-การปรับปรุงและจัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑ์เขื่อนขุนด่านปราการชล บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์  นิทรรศการถาวรจัดแสดงเนื้อหาประวัติความเป็นมาของเขื่อนขุนด่านปราการชล และเรื่องราวเกี่ยวกับประชาชนในพื้นที่โดยรอบเขื่อน นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการข้อมูลทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูล และแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของจังหวัดนครนายก ทั้งนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยออกแบบให้สอดคล้องและกลมกลืนกับพื้นที่อีกด้วย

-การปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ กรมศิลปากร ดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ที่จัดแสดงมายาวนานกว่า ๕๐ ปี โดยจะนำเสนอ การจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาถึงยุควัฒนธรรมทวารวดี ทั้งด้าน สังคม ศาสนา และความเชื่อ ของผู้คนที่เคยอาศัยในพื้นที่จากหลักฐานทางโบราณคดี และเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของนครปฐม นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดีในจังหวัดนครปฐม เช่น ศิลาจารึกพบที่วัดพระงาม แผ่นฤกษ์ดินเผาจากแหล่งโบราณคดีโคกแจง ที่รอการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการหลากหลายแขนงของกรมศิลปากร คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบภายในปลายปีนี้

-โครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก กรมศิลปากร ดำเนินโครงการ ปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของเมืองพิษณุโลก เพื่อให้เป็นประจักษ์พยานความศรัทธาของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชน ที่มีต่อพระพุทธชินราช  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช เมื่อแรกสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยใช้พื้นที่ของพระวิหารพระพุทธชินสีห์ และพระวิหารพระศรีศาสดา เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทต่างๆ  ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมเรื่อยมา  จนในปี ๒๕๕๗ ได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช หลังใหม่ ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนาการจัดแสดงนิทรรศการถาวร

-อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  กรมศิลปากร จัดสร้าง อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ใช้งานกว่า ๒๗,๐๐๐ ตารางเมตร รองรับโบราณวัตถุได้มากถึง ๒๐๐,๐๐๐ รายการ ปัจจุบันมีโบราณวัตถุที่เก็บรักษามานับตั้งแต่ จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และโบราณวัตถุที่รับมอบเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบันรวมกว่า ๕๐,๐๐๐ รายการ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม การควบคุมสภาพแวดล้อมภายใต้หลักการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นมาตรฐานสากล พร้อมด้วยระบบการสืบค้นที่สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งจะเป็นต้นแบบของการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ การก่อสร้างอาคาร ดำเนินการใน พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๒ ปัจจุบันอยู่ในส่วนของการตกแต่งภายใน และติดตั้งงานระบบต่างๆ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะสามารถให้บริการสืบค้น ศึกษาวิจัย รวมไปถึงให้บริการ ยืมโบราณวัตถุหมุนเวียนไปจัดแสดงยังที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเข้าชม

-ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ตามลำดับ บ่งชี้ถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์เป็นอย่างดี ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชน มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาการจัดแสดง ข้อมูลธรรมชาติบนภูพระบาท ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาและโบราณคดีบนเขาภูพระบาท ข้อมูลด้านชาติพันธุ์ไทพวน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของอำเภอบ้านผือ และหลักธรรมของพระเกจิสำคัญของภาคอีสาน มีห้องสืบค้นข้อมูลทางโบราณคดี ที่เพิ่มศักยภาพและอำนวยความสะดวกในการให้บริการ พร้อมยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานในระดับสากล ในฐานะแหล่งมรดกโลกในอนาคต

-การจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ในฐานะที่ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวการดำรงชีวิต ของมนุษย์ย้อนหลังไปกว่า ๕,๐๐๐ ปี บอกเล่าภูมิปัญญาของมนุษย์ในอดีต จากการผลิตสิ่งของขึ้นใช้ในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายโดนเด่นเฉพาะตัว  และเพื่อเป็นการผลักดันองค์ความรู้ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น กรมศิลปากรจึงได้จัดสร้างศูนย์การศึกษาวิจัยโบราณคดีบ้านเชียง ในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี  เพื่อรองรับโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมบ้านเชียงในเขตภาคอีสานตอนบน โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒  และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ศูนย์การวิจัยฯ แห่งนี้ จะเป็นศูนย์การวิจัยที่มีความทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับผู้เข้ามาศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเชียง และวัฒนธรรมอื่นๆ ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั่วไป

-อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี  อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่ว และประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอาคารจัดแสดงประติมากรรมหล่อโลหะ แสดงเรื่องราวของขุนหลวงพระงั่ว เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี โดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินการ ปรับปรุงอาคารและปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ของจังหวัดสุพรรณบุรี จะพร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

-การจัดการแหล่งเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรม กองโบราณคดี ได้สำรวจแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน และจัดทำฐานข้อมูลงานด้านโบราณคดีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่โบราณสถานอาคารศุลกสถาน และบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช รวมถึงการอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรมให้คงคุณค่าความเป็นของแท้ดั้งเดิม อาทิ จิตรกรรมวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี จิตรกรรมวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ กองโบราณคดีในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ยังได้ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเสนอและจัดทำเอกสารขอประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้แก่หน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟู อนุรักษ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ อีกด้วย

-งานด้านศิลปะสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ดำเนินงานด้านศิลปะสถาปัตยกรรม ทั้งสถาปัตยกรรมที่เป็นโบราณสถาน อาคารแบบไทยประเพณีและอาคารร่วมสมัย เพื่อรองรับภารกิจของกรมศิลปากรอย่างรอบด้าน เช่น งานก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ การออกแบบปรับปรุงอาคารโบราณสถาน งานออกแบบและประมาณราคางานก่อสร้าง งานบูรณะโบราณสถาน การออกแบบจัดแสดงนิทรรศการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ มีตัวอย่างงานที่สำคัญ ได้แก่ งานพัฒนาอาคารจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  การจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารเครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า งานบูรณะพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม งานบูรณปฏิสังขรณ์ระเบียงคต วัดบวรมงคลราชวรวิหาร พิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บูรณะบ้านมนังคศิลา ทำเนียบรัฐบาล งานปรับปรุงอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักราชบัณฑิตยสภา เป็นต้น

-การปรับปรุงและพัฒนางานด้านหอสมุดแห่งชาติ จดหมายเหตุแห่งชาติ วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร มีเป้าหมายที่จะรักษามรดกภูมิปัญญาของชาติให้คงอยู่และสืบทอดต่อไป โดยมีการจัดพิมพ์หนังสือ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาการให้บริการ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ปรับปรุงการให้บริการ ให้บริการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสังคมแห่งการอ่าน จัดพิมพ์หนังสือและวรรณกรรม วรรณคดี เผยแพร่ การปรับปรุงหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ  พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เข้าเป็นส่วนของ พิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การดำเนินงานประเมินเอกสารจดหมายเหตุและนำเข้าระบบให้บริการสืบค้นเต็มรูปแบบ

-งานด้านศิลปกรรม กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตงานศิลปกรรมที่คงไว้ซึ่งคุณค่าและเอกลักษณ์ของงานศิลปกรรมของชาติไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ได้รับผิดชอบงานพิจารณาอนุญาตการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ๑๑ ครั้ง พระราชานุสาวรีย์ในพระบรมวงศานุวงศ์ ๔ ครั้ง พระอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ๑ ครั้ง และอนุสาวรีย์บุคคลทั่วไป ๑ ครั้ง ดำเนินการให้ความอนุเคราะห์ออกแบบดวงตราให้แก่หน่วยงานต่างๆ ๒๘ ครั้ง ตามหลักการออกแบบและความหมายดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ รับผิดชอบคัดเลือกงานศิลปกรรมจากพระเมรุมาศเพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การซ่อมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เช่น ราชรถ ราชยาน พระแท่นบรรทม เป็นต้น การซ่อมงานศิลปกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ฝีมือและคุณภาพในระดับมาตรฐานกรมศิลปากร การก่อสร้างและอนุรักษ์ซ่อมแซมอนุสาวรีย์สำคัญต่างๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

-การพัฒนางานด้านนาฏศิลป์และดนตรี กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต ได้ดำเนินการสืบทอดองค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์และดนตรี เพื่ออนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม ให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ พัฒนาบุคลากรให้เพิ่มพูนองค์ความรู้และเกิดความเชี่ยวชาญ ตามสายการสืบทอดของกรมศิลปากร นอกจากนี้ โรงละครแห่งชาติได้พัฒนาระบบจำหน่ายบัตรเข้าชมออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการรองรับการเข้าถึง และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่สนใจเข้าชมได้มากขึ้น

-การพัฒนาระบบการให้บริการด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายในแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานภาครัฐที่รวบรวมข้อมูลด้านมรดกศิลปวัฒนธรรม ได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลของแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรม จำนวน ๓ กิจกรรมหลัก ได้แก่ พัฒนาระบบบริการเอกสารจดหมายเหตุเพื่อประชาชน พัฒนาระบบบริการห้องสมุดดิจิทัล หอสมุดแห่งชาติ และพัฒนาระบบบริการข้อมูลแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชนผ่านเทคโนโลยี เช่น ระบบภูมิสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม ระบบอุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง ระบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ระบบ AR/VR แหล่งโบราณสถานสำคัญ ระบบติดตามความสนใจการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ระบบการจำหน่ายบัตรชมการแสดงในโรงละครแห่งชาติแบบออนไลน์ ระบบจำหน่ายหนังสือกรมศิลปากรออนไลน์ นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้เพิ่มช่องทางในการ เข้าถึงบริการและข้อมูลองค์ความรู้ทางด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย

-งานอนุรักษ์ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ การจัดอบรมและการออกใบรับรองผลงานด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร กรมศิลปากรจัดทำโครงการจัดอบรมความรู้ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านการอนุรักษ์ที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ทั่วประเทศ การอบรมแบ่งเป็น ๓ ระยะ ซึ่งในระยะแรกนี้ การอบรมจะเน้นไปที่ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้ ตามแผนงานจะผลิตบุคลากรรุ่นแรกภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ และจะจัดอบรมบุคลากรกลุ่มอื่นๆ ต่อไปในปี ๒๕๖๕ และ ๒๕๖๖ การอบรมนี้จะช่วยให้โบราณสถานและแหล่งมรดกวัฒนธรรมได้รับการปกป้องตามมาตรฐานของกรมศิลปากร แก้ปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือและเพิ่มบุคลากรด้านการอนุรักษ์ให้เพียงพอต่อปริมาณงาน เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ความเป็นชาติ ตามภารกิจของกรมศิลปากร ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการอบรมและการส่งผลงานเพื่อรับใบรับรองการดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานได้จากประกาศของกรมศิลปากร

-ภารกิจตามนโยบายรัฐบาล การติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กรมศิลปากรได้ติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ภายใต้คำสั่งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ลงนามโดย นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นประธาน การดำเนินงานเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ ปัจจุบันประสบผลสำเร็จว่าขณะนี้โบราณวัตถุชุดแรกที่ดำเนินการ คือ ทับหลัง ๒ รายการ จากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว และปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้สิ้นสุดกระบวนติดตามแล้ว โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ โดยจะเคลื่อนย้ายกลับมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมอีก ๓๒ รายการที่อยู่ในขั้นตอนการติดตาม รวมถึงโบราณวัตถุที่มีข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมดำเนินการติดตามกลับคืนสู่ประเทศไทย ต่อไปอีกหลายรายการ

-การผลักดันแหล่งโบราณสถานเข้าสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองสมัยวัฒนธรรมทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ที่มีหลักฐานคูน้ำคันดินที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ เขาคลังใน ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพ เขาคลังนอก ปรางค์ฤาษี เป็นต้น นอกเมืองยังเป็นที่ตั้งของถ้ำเขาถมอรัตน์ โบราณสถานซึ่งปรากฏภาพสลักพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ในพุทธศาสนาแบบมหายาน ถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความเกี่ยวพันกับการนับถือศาสนา ของผู้คนในเมืองศรีเทพสมัยโบราณ และด้วยความสำคัญและความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงมีนโยบายผลักดันให้อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ปัจจุบันอยู่ในบัญชีเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative list) แล้ว และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเสนออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโกในปี ๒๕๖๕

-ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร เป็นศูนย์รวมหนังสือและการจัดจำหน่ายหนังสือทางมรดกศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ที่กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์ขึ้น ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑ์ งานช่าง วรรณกรรม ศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี และอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ครบถ้วน และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยให้บริการแบบออนไลน์ ทางเว็บไซต์ http://bookshop.finearts.go.th และร้านหนังสือกรมศิลปากร ชั้น ๑ อาคารกรมศิลปากร (เทเวศร์) เขตดุสิต กรุงเทพฯ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Fanpage : ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร

-ความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมศิลปากรได้ดำเนินความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรกับประเทศเพื่อนบ้าน และนานาประเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการปกป้องคุ้มครอง และอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ  โดยทำการสำรวจ ขุดตรวจแหล่งเรือจมต่างๆ ในอาณาเขตประเทศไทย ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี โบราณวัตถุในอาเซียน การศึกษาวิจัยเรื่อง บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทย ดำเนินโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาช่างฝีมือสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิมร่วมกับองค์กรยูเนสโก รวมทั้งหารือการแลกเปลี่ยนการจัดนิทรรศการพิเศษกับนานาประเทศ   อีกทั้งกรมศิลปากรได้บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยี และสร้างสรรค์ ต่อยอด เพิ่มคุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนถ่ายทอดเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชน อันจะส่งผลให้มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

-การจัดการแหล่งเรียนรู้ และการให้บริการ ในระหว่างสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นมา สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในทุกระดับ กรมศิลปากรตระหนักในสถานการณ์ดังกล่าว จึงตอบรับนโยบายรัฐบาลในการประกาศปิดการให้บริการของหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรเป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่ง อุทยานประวัติศาสตร์ทุกแห่ง โบราณสถานที่เก็บค่าเข้าชม หอสมุดแห่งชาติทุกแห่ง และหอจดหมายเหตุแห่งชาติทุกแห่ง และยกเว้นการเรียกเก็บค่าตอบแทน หรือค่าตอบแทนจากเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร กรมศิลปากรยังได้มุ่งเม้นการเผยแพร่งานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของกรมศิลปากร เช่น งานด้านนาฏศิลป์และดนตรี งานด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ งานเอกสารและหนังสือ เป็นต้น ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ จากสถิติการรับบริการที่เพิ่มมากขึ้นในทุกหน้างานของกรมศิลปากร

-แผนการดำเนินงานการอนุรักษ์และพัฒนาอาคารและพื้นที่บริเวณกรมศิลปากร วังถนนหน้าพระลาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนากรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔  โดยใช้ที่ตั้งของวังถนนหน้าพระลาน วังกลาง และวังถนนหน้าพระลาน วังตะวันออก มีการปลูกสร้างอาคารที่ทำการกรมศิลปากร ในบริเวณยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ และหอประติมากรรมต้นแบบ อาคารกรมศิลปากรนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ และ ๒๕๓๑) พื้นที่กรมศิลปากรจึงเป็นที่รวมของอาคารสำคัญของประเทศ อันเป็นที่มาของแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนา นับแต่ปี ๒๕๖๒เริ่มจากการศึกษาข้อมูลทางโบราณคดีด้านต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สอดรับกับแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ และคงคุณค่าในความเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติให้คงอยู่ต่อไป

-การปรับปรุงโรงละครแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ ของกรมศิลปากร สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๐๘ เพื่อใช้จัดแสดงโขน ละครและดนตรีของกรมศิลปากร มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและโครงสร้างเฉพาะตัว โรงละครแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่แสดงมหรสพระดับชาติมากมาย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยาวนานถึง ๕๖ ปี ตัวอาคารเริ่มมีความชำรุดทรุดโทรม ทั้งโครงสร้างอาคาร และงานระบบต่างๆ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กรมศิลปากรจึงมีแผนพัฒนาโรงละครแห่งชาติ โดยจะดำเนินการปรับปรุงตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๕-๒๕๖๗ ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างอาคาร งานระบบวิศวกรรมเครื่องกลประกอบการแสดง ระบบไฟฟ้า สุขาภิบาล และงานตกแต่งภายในให้มีศักยภาพถึงพร้อมในทุกๆ ด้าน และเป็นไปตามมาตรฐานโรงละครระดับนานาชาติ ทัดเทียมกับอารยประเทศ

กรมศิลปากรตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการทำนุบำรุง สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติและการสนองงานรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานในการธำรงรักษาจารีตประเพณี การอนุรักษ์ บำรุงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยี และสร้างสรรค์ต่อยอด เพิ่มคุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนถ่ายทอดเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชน อันจะส่งผลให้มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป