อธิการบดี มจร.นำคณะตรวจเยี่ยมพระบัณฑิตอาสาบนพื้นที่สูง สนองพุทธดำรัส “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย ฯ” แบ่งเบาภาระภาครัฐ แก้ปัญหา-พัฒนาสังคม

0
1939

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) นำคณะผู้บริหารมจร.อาทิ พระเมธีธรรมจาย์ (ประสาร จนฺทสโร) รองอธิการบดี มจร. ฝ่ายวางแผนและพัฒนา พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ มจร. พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร. พระวิมลมุนี รองอธิการบดี มจร. วิทยาลัยเขตเชียงใหม่ ผศ. ดร. อภิรมย์ ศรีดาคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. วิทยาลัยเขตเชียงใหม่ และคณะ เดินทางขึ้นยังอาศรมบ้านแม่ลิดป่าแก่ ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามงานพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา และมอบพระพุทธรูปแก่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ โดยมีพระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ (อนันต์ จนฺทาโภ) เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู นายธนกฤต ฉันทจำรัสศิลป์ นายอำเภอแม่สะเรียง และนายนายวินัย ปุณยรัชตปรีดา ผอ.พระพุทธศาสนาจังหวัด(พศจ.) แม่ฮ่องสอน เข้าร่วม

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

พระราชปริยัติกวี กล่าวว่า กุศลเจตนาของพระบัณฑิตอาสาที่มาทำงานเผยพระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูงเหล่านี้ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทุกคนในพื้นที่ สิ่งที่ได้มาเห็นชัดเจนก็คือ ชาวบ้านมีความอบอุ่นใจในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยก่อนนั้นเรื่องของศาสนาหรือเรื่องของความเชื่อ เขาก็ปฏิบัติตามประเพณีท้องถิ่น เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ เป็นบรรพบุรุษ ต้นไม้ ภูเขา เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของเขาตามที่เคยเชื่อถือกันมา ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่พอมีพระสงฆ์เข้ามาอยู่เมื่อมีปัญหาชีวิต หรือมีข้อขัดข้องประการใดก็ยังมีที่พึ่งที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น เป็นการสื่อสาร 2 ทาง มีความอบอุ่นใจเชิงประจักษ์ได้มากกว่า อีกประการหนึ่งคือการอนุรักษ์สืบทอด รักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยก่อนที่พระบัณฑิตอาสาจะเข้าไปในพื้นที่ แม้ว่าเขาจะมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามในท้องถิ่นดีอยู่แล้ว แต่เมื่อสังคมปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไป ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมก็อาจสูญหายไปได้  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่มีแบบอย่างในการใช้ชีวิต ก็ได้พระสงฆ์ที่ชักชวนชาวบ้านให้ได้เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีท้องถิ่นซึ่งถือเป็นความมั่นคงด้านวัฒนธรรม

อธิการบดี มจร. กล่าวต่อว่า ประการที่สาม เป็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่เดิมที่คนในท้องถิ่นอยากใช้ทรัพยากรอย่างไรก็ใช้ไป เช่นการตัดไม้ เผาป่า ล่าสัตว์ แต่เมื่อมีพระสงฆ์ท่านเข้าไปอยู่แล้วสิ่งใดที่ควรจะได้จากธรรมชาติก็เอาตามสมควร ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันอนุรักษ์ดูแลด้วยการรักษาป่าบ้าง ปลูกป่าบ้าง อะไรบ้างเพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งนี้เห็นว่าดีขึ้นมากหลังจากพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาเข้าไปอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้เรื่องของการดูแลความเป็นอยู่ของคนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็กเนื่องจากเวลากลางวันพ่อบ้านแม่บ้านก็ต้องออกไปทำมาหากิน ผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กเล็กพระสงฆ์ท่านก็เข้าไปช่วยดูแล เป็นการอนุเคราะห์ สงเคราะห์ ทำให้ผู้ที่ออกไปทำกินไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง  ปัจจุบันพระบัณฑิตอาสามีอยู่ประมาณ 35 อาศรมใน 4 จังหวัด แต่ก็ทำงานแบบเครือข่ายเชื่อมโยงกับพระธรรมจาริกตามที่คณะสงฆ์ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้การทำงานก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ตนจึงให้แนวทางไปว่า ควรจัดกลุ่มให้เป็นกลุ่มงาน หรือกลุ่มกิจกรรมเพื่อจัดกิจกรรมในชุมชน เช่น กิจกรรมส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรมในชุมชน กลุ่มอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานมากยิ่งขึ้น

“มจร. เป็นสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคมอยู่แล้ว แม้ว่างานบริการวิชาการจะเป็นงานที่โดดเด่น แต่ก็ได้วางมาตรฐานพื้นฐานไว้เพื่อเติมพลังสติ ปัญญา ความรู้ แก่พระสงฆ์ที่ทำงานด้านนี้ เป็นการแบ่งเบาภาระช่วยเหลือสังคมประเทศชาติ เพื่อรัฐบาลจะได้เบาใจว่าพระเจ้าพระสงฆ์โดยเฉพาะมหาจุฬาฯ ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมในส่วนที่ยังเห็นว่าไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาซึ่งแต่ละรูปมีประสบการณ์อยู่แล้ว อันนี้จะเป็นไปตามพุทธประสงค์ อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แก่พุทธสาวกผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาชุดแรกว่า  “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย ฯ” ภิกษุทั้งหลายท่านจงท่องเที่ยวจาริกไปเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แก่ชนจำนวนมากและชาวโลก ก็จะเป็นคุณูปการแก่สังคมและประเทศชาติสืบต่อไป” อธิการบดี มจร. กล่าว

ทั้งนี้ ผู้เสื่อข่างรายงานว่า ก่อนการเดินทางขึ้นสู่บ้านแม่ลิดป่าแก่ อธิการบดีพร้อมคณะผู้บริหารส่วนกลาง วิทยาเขตเชียงใหม่และลำพูน ได้เดินทางเข้าถวายสักการะ พระพรหมมงคล (หลวงปู่ทอง) ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ. เชียงใหม่ และเมื่อเดินทางถึงบ้านแม่ลิดป่าแก่ มีพระพิเดช จนฺทวณฺโณ พระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาอาศรมบ้านแม่ลิดป่าแก่ พระปลัดสุชาติ สุวฑฺฒโก เลขานุการศูนย์ประสานงานโครงการฯ เจ้าอาวาสวัดห้วยบง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ คณะพระบัณฑิตอาสาจากอาศรมต่างๆ ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง พร้อมด้วยนายบุญเอง ปองบุญเกษม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านแม่ลิดป่าแก่  นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ร่วมถวายการต้อนรับ

โอกาสนี้ พระราชปริยัติกวี ได้เป็นประธานในการเปิดป้ายหมู่บ้านส่งเสริมศีล 5 จากนั้นได้ปลูกต้นไม้ (ต้นโศก) ณ ด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุเจดีย์ และเปิดป้ายธนาคารข้าวภายในอาศรมพระบัณฑิตอาสาฯ ทั้งนี้ พระพิเดช ได้กล่าวรายงานว่า บ้านแม่ลิดป่าแก่ มีประชากรทั้งหมด 1,010 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ การดำรงชีวิตอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพหลักคือการทำนาโดยอาศัยน้ำจากธรรมชาติ การทำนาจะทำปีละ 1 ครั้ง ลักษณะเป็นนาแบบขั้นบันได คือ ทำตามไหล่เขามีระดับสูงต่ำแตกต่างกัน เมล็ดข้าวจะมีลักษณะป้อม การทำนาแต่ละครอบครัวจะทำเพียงเพื่อบริโภค แต่ว่าในบางปีเกิดความแห้งแล้ง ข้าวไม่พอกิน และในบางปีมีความอุดมสมบูรณ์ มีชาวบ้านนำข้าวเปลือกมาถวายให้กับพระบัณฑิตอาสาฯ เป็นจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่มีสถานที่เก็บข้าวเปลือก ดังนั้นตนจึงมีแนวคิดที่จะสร้างที่เก็บข้าวเปลือกโดยทำเป็นธนาคารข้าว เพื่อให้ชาวบ้านได้ยืมข้าวไปบริโภคช่วงที่ขาดแคลนข้าว และเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี ความเมตตา โดยผ่านหลักพุทธธรรมสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

นายบุญเอง ผู้ใหญ่บ้านแม่ลิดป่าแก่ กล่าวเสริมว่า ชุมชนแห่งนี้ มีสภาพเป็นป่าและภูเขาต้นน้ำขุนแม่ลิด มีชาวบ้านอพยพเข้ามาอยู่เริ่มแรก 7 ครอบครัว โดยมีนายเป บือ เป็นหัวหน้าผู้นำประเพณี ตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า เบ๊าะแด และมีชื่อทางราชการว่า บ้านแม่ลิดป่าแก่ ตามที่ตั้งอยู่บนขุนเขาต้นน้ำแม่ลิด และมีป่าไม้ที่เจริญเติบโตสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษ นิยมเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีขุนน้ำ ป่าเขา และต้นไม้ เป็นต้น มีชาวบ้านบางส่วนนับถือศาสนาพุทธ บางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ที่นับถือศาสนาพุทธ มีจำนวน 67 หลังคาเรือน ที่นับถือศาสนาคริสต์ มีจำนวน 120 หลังคาเรือน มีอาศรมพระบัณฑิตอาสาฯ 1 แห่ง มีพระบัณฑิตอาสาฯ อยู่ประจำ 1 รูป และมีกิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญและวันปกติเป็นประจำตลอดทั้งปี

(ชมคลิป)

ต่อมาวันที่ 9 มี.ค. เวลา 07.30 น. อาศรมพระบัณฑิตอาสา ร่วมกับพุทธศาสนิกชนจากหลายหมู่บ้านในเขตตำบลแม่เหาะ ได้จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ มีพระราชปริยัติกวี นำคณะสงฆ์กว่า 30 รูปออกรับบาตร ต่อจากนั้นได้เป็นประธานนำสวดมนต์ไหว้พระ การสมาทานศีล การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ และมอบปัจจัยส่วนตัวจำนวนหนึ่งและหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ แก่อาศรมพระบัณฑิตอาสาฯทั้ง 35 แห่ง มอบพระพุทธรูปและเกียรติบัตรแก่ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ จำนวน 300 ราย  พร้อมกับมอบเครื่องกีฬาให้แก่ผู้แทนชุมชนทุกชุมชนที่เข้ามาร่วมพิธี

(ชมคลิป)

ทั้งนี้ได้มีผู้ใจบุญจากกรุงเทพมหานคร นำโดย ดร.สุพัตรา ชั้นสุวรรณ เป็นเจ้าภาพถวายเงินเพื่อเป็นทุนจัดงาน ถวายเครื่องกีฬา และถวายเครื่องกันหนาว นอกจากนี้คุณจตุรภัทร เดือนฉาย ได้เป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูป ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว และ 9 นิ้ว จำนวนกว่า 300 องค์ นำมาถวายเพื่อการนี้อีกด้วย