อธิการบดี มจร. ชี้บัณฑิตยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องเชื่อมโยงกับศาสตร์สมัยใหม่ ให้เหมือนผีเสื้อพร้อมโบยบินเพื่อผสมเกสรสร้างโลก

0
2061

สำนักข่าว Thai R News- เมื่อวันที่ 4 กันยายน ณ ห้องสัมมนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) มีงานสัมมนาทางวิชาการระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพระพุทธศาสนา สาขาปรัชญา   และสาขาธรรมนิเทศ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนรู้ทางวิชาการระหว่างนิสิตกับอาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต) ศ.ดร. อธิการบดี มจร. กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการเรียนของบัณฑิต เป็นช่องทางการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิต เพราะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มหาจุฬาได้เปรียบเพราะมีนักปราชญ์ทั่วโลกด้านศาสนามามหาจุฬาบ่อยๆ  เพราะเป็นมหาจุฬาเป็นสมาคมพระพุทธศาสนาโลก และวิสาขบูชาโลก มีผู้คนระดับโลกในด้านศาสนาต้องการมาพบปะสนทนากับนิสิตมหาจุฬา เราต้องเชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกมาเพื่อแลกเปลี่ยน ถึงจะมีบรรยากาศในการเรียนรู้ มหาจุฬาได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ จะมีนักปราชญ์แวะเวียนมาบ่อย  เหมือนให้อาจารย์พิเศษมาพบนิสิต  ถือว่าเราใช้โอกาสน้อยในการเชิญผู้ทรงระดับโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อยอดงานวิทยานิพนธ์

อธิการบดี มจร. กล่าวต่อว่า บัณฑิตศึกษาในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ บัณฑิตศึกษาจะตอบโจทย์นี้อย่างไร ? เพราะการเรียนในระดับปริญญาโท เอก ต้องทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เป็นการเรียนแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับศาสตร์สมัยใหม่เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม การขับเคลื่อนประเทศใช้ไทยแลนด์ ๔.๐ การเรียนระดับบัณฑิตต้องนำงานวิจัยที่เราทำไปขับเคลื่อนสังคม  ทำงานวิจัยเสร็จต้องนำไปใช้ได้จริง  อย่าเป็นวิจัยแค่ขึ้นหิ้ง เรามีจุดแข็งอะไร  เราถนัดอะไร  จะมีผลต่อชีวิตเราไหมในอนาคต มีผลกระทบต่อสังคมไหม เพราะการทำวิทยานิพนธ์ต้องทำตัวเหมือนดักแด้ก่อนจะเป็นผีเสื้อ มี ๔ ขั้นตอน คือ วางไข่   หนอน  ดักแด้ โบยบินเป็นผีเสื้อ  สร้างโลกด้วยการผสมเกสร เราเรียนปริญญาตรีเหมือนหนอน เก็บข้อมูล  ส่วนการเรียนปริญญาโทเอก เหมือนผีเสื้อเป็นความรู้ตกผลึก อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยพอประมาณ ให้ผีเสื้อบินได้เอง จบออกมาต้องเป็นผีเสื้อสมบูรณ์ แต่ถ้าที่ปรึกษาเขียนให้เกินหน้าที่ เราจะได้   “ผีเสื้อพิการ” ไม่สามารถบินได้ด้วยตนเอง  อาจารย์ที่ปรึกษาต้องโหด โขกสับทางวิชาการให้ตึกผลึก แต่ต้องเป็นกัลยาณมิตร

อธิการบดีมหาจุฬา กล่าวอีกว่า ไทยแลนด์ ๔.๐ เกิดมาจาก World Bank ในพศ.๒๕๕๔ ธนาคารโลก กลุ่มเศรษฐกิจโลกได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศมีรายได้ปานกลางระดับสูง ( Upper – middle – income group ) ไทยมีแผนพัฒนาประเทศ ๒๐ ปี จะพัฒนาประเทศมีรายได้สูง ไปถึงแน่ถ้าคนไทยไม่ทะเลาะกัน ไม่ขัดแย้งกันเหมือนในปัจจุบัน โมเดลไทยแลนด์ ๔.๐  คือ เกษตรกรรม  อุตสาหกรรมเบา  อุตสาหกรรมหนัก  และนวัตกรรม เราจะทำอย่างไร ? ถึงจะไม่ติดในกับดักในการพัฒนา และสามารถเป็นไทยแลนด์ ๔.๐ ทุกอย่างย่อมมีกับดักของชีวิต กำลังทำงานสื่ออย่างดีอนาคตกำลังรุ่ง แต่ตอนนี้อยู่ในคุก เรียนบัณฑิตต้องทราบบริบทสังคม  คำถามบัณฑิตวิทยาลัยจะไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ อย่างไร อะไรคือกับดักในทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยของเราต้องช่วยคนในมิติใดมิติหนึ่ง งานวิจัยบัณฑิตวิทยาลัยต้องสามารถจัดการกับกำดักของสังคม  เราในฐานะบัณฑิตศึกษาจะเอาธรรมะหรืองานวิจัยอะไรไปช่วยสังคม  ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทราบว่าคนไทยมีกับดักชีวิต จึงมีแนวคิดด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยปฏิบัติเพื่อความสุขของชีวิต

ในเรื่องของ Thai Economy ๔.๐ เราจะ “ทำมากแต่ได้น้อย ทำน้อยแต่ได้มาก” เรียกว่า more for loss หรือ less for  more ภูฏานทำงานได้เงินน้อยแต่มีความสุข ส่วนไทยทำงานหนักแต่ได้เงินน้อยเพราะคนไทยเป็นลูกน้อง ประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นผู้จัดการด้วยการใช้สมองและเป็นเจ้าของกิจการ ทำงานเบาแต่ได้เงินมาก คนที่รวยที่สุดในโลกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา คือ บิลเกต ถามว่าบิลเกตทำงานอะไร เพราะใช้สมอง ? รวมถึงสติปจ๊อปได้เงินมหาศาล รวมถึงซัมซุงของเกาหลีตอนนี้โน๊ต ๘ เตรียมออกแล้ว เตรียมกอบโกยเงินมหาศาล แล้วงานวิจัยบัณฑิตวิทยาลัยเราจะทำอย่างไร? เรียนจบมหาจุฬาต้องเป็นเจ้าอาวาสอย่าไปเป็นแค่ลูกวัดเท่านั้น เจ้าอาวาสใช้สมองในการบริหาร ถ้าพระลูกต้องใช้แรงงาน เครื่องมือสำคัญจะไปสู่ ๔.๐ คือ นวัตกรรม  งานวิจัยของบัณฑิตวิทยาลัยมีนวัตกรรมอะไรบ้าง ? ให้สอดรับกับยุคไทยเเลนด์ ๔.๐ สมัยอธิการเรียนปริญญาเอก มีความลำบากมาก เพราะมีเงื่อนไขมาก เช่น จะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ จะต้องมีหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาบังคับว่าต้องมีหนังสือเล่มนี้ ถึงจะสามารถทำวิทยานิพนธ์ได้ ในสมัยอดีตเทคโนโลยีไม่ทันสมัยค้นคว้าลำบากมาก แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีช่วยแต่นิสิตก็ยังเรียนไม่จบ บัณฑิตวิทยาลัยต้องไปหาคำตอบ เพราะอะไร ?  ทำไมต้องทำวิจัยเรื่องยากๆ เพราะเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อนำมาใช้ในปัจจุบัน ยิ่งเรียนยิ่งสนุก โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส มีการเชื่อมภาษาบาลี เหมือนเวลาทำงานต้องเชื่อมระหว่างวิชาการกับปฏิบัติ เช่น เมื่อเป็นเจ้าอาวาสบริหารแล้วมักจะไม่เทศน์ ไม่เขียน ถ้ามาเรียนมหาจุฬาถ้าบริหารวัดยังแย่อยู่ ไม่ต้องมาเรียน  มาเรียนมหาจุฬาต้องบริหารวัดตนเองให้ดี  อย่าแยกการบริหารและงานวิชาการออกจากกัน  เราต้องบริหารด้วยสมองจึงจะพัฒนา อย่าแยกออกจากกัน จะทำได้ต้องมี “นวัตกรรม   เทคโนโลยี  และการบริการ” งานวิจัยต้องมีนวัตกรรม เทคโนโลยี  การบริการ

พระพระพุทธเจ้าเป็นผู้ก่อตั้งถือว่าเป็นการประดิษฐกรรม Invention เราอย่าคิดคำสอนใหม่ที่ไม่พื้นฐาน มีการตีความผิด ๆ เราไม่ต้องประดิษฐ์คำสอนใหม่ แต่เราสามารถเป็นนวัตกรรม ใครก็ตามที่นำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นเหมาะสมกับสังคมด้วยการประยุกต์บูรณาการ ทำให้น่าสนใจมากขึ้น เรียกว่า นวัตกรรม วิปัสสนากรรมฐานเป็นนวัตกรรม  ท่านติสนัทฮันนำเสนอการภาวนาให้เหมาะกับคนในสังคมปัจจุบัน ถือว่าเป็นนวัตกรรม  นิสิตบัณฑิตทุกสาขามหาจุฬาจะทำวิจัยเรื่องใดก็ตามจะต้องเป็นมีนวัตกรรม ถือว่าเป็นบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่  เราต้องมีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ สาขาธรรมนิเทศมีคนเรียนน้อยเพราะขาดนวัตกรรม ต้องเป็นไปเพื่อการเผยแผ่ธรรมะ จะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเผยแผ่ นำศาสตร์นิเทศเป็นนิเทศศาสตร์เพื่อการเผยแผ่  สงฆ์เราอ่อนแอเพราะเราขาดนิเทศศาสตร์ ต้องมีการเชื่อมธรรมะกับนิเทศศาสตร์เป็นการบูรณาการ เรียนจบต้องสามารถเป็นสื่อมวลชนของสงฆ์ มิใช่มาเรียนเรื่องเทศน์เท่านั้น   ส่วนสันติศึกษาเรียนแล้วต้องใจกว้างทุกมิติทางศาสนา พูดคุยกับบุคคลที่มีความต่าง รับฟังกันและกัน ไม่คลั่งศาสนาของตน สันติศึกษากับปรัชญาจึงไปด้วยกัน  สิ่งสำคัญทุกหลักสูตรต้องมีนวัตกรรม

อธิการบดีมหาจุฬา กล่าวย้ำว่า งานวิจัยต้องมี ๔ นวัตกรรม คือ “ด้านผลผลิต  ด้านการบริการ   ด้านกระบวนการ ด้านการจัดการ”  งานวิจัยต้องสอดคล้องกับด้านใดด้านหนึ่งให้ได้

๑) นวัตกรรมด้านการผลผลิต คือ การนำเอาองค์ความรู้ในอภิธรรมปิฎกและวิธีปฏิบัติกรรมฐานมาบูรณาการเข้ากับจิตวิทยาตะวันตกจนเกิดสาขาพุทธจิตวิทยาและชีวิตและความตาย รัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของโลกที่ผลิตนวัตกรรม ทำหนังสือพระไตรปิฎกเล่มแรกของโลกด้วนการใช้เทคโนโลยี  ในพศ. ๒๔๓๖ ถือว่าเป็นการนวัตกรรมด้านผลผลิต  รัชกาลที่ ๕ จึงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและมหาจุฬาเป็นอย่างยิ่ง   บัณฑิตวิทยาลัยต้องสร้างนิเทศศาสตร์ทางธรรมะให้ได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วย ต้องพัฒนาไปสู่อนุสาสนียปาฎิหาริย์

๒) นวัตกรรมด้านกระบวนการ คือ การแสวงหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อลดขั้นตอนในการผลิต เช่น วิธีการสอนภาษาอังกฤษแก่มหาเปรียญโดยเทียบเคียงกับภาษาบาลี วิธีการสอนเชิงพุทธบูรณาการ

๓) นวัตกรรมด้านการบริการ คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์มาใช้ในการเรียนการสอนและเผยแผ่ธรรม บริการด้านวิชาการเพื่อให้เข้าถึงคนในยุคสมัยใหม่

๔) นวัตกรรมด้านการบริหาร คือ การนำหลักธรรมมาใช้ในการบริหารจัดการจนได้ผลจริง (Paperless  Office) บัณฑิตวิทยาลัยจึงต้องคุมคุณภาพการศึกษา

ฉะนั้น จากการฟังท่านอธิการทำให้เห็นมิติการมองว่า นิสิตระดับบัณฑิตต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ่อยๆ เชิญผู้นำศาสนาระดับโลกมาแลกเปลี่ยนเพื่อได้แนวประเด็นหัวข้อวิจัย การวิจัยต้องเป็นนวัตกรรมนำไปใช้บูรณาการในการพัฒนาชีวิตและสังคม ต้องฝึกตนเป็นผีเสื้อที่โบยบินอย่างมั่นคง ทุกสาขาในบัณฑิตวิทยาลัยต้องบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่ เท่าทันเหตุการณ์ในปัจจุบัน นิสิตจึงต้องมีกระบวนการคิดเชิงระบบ ตกผลึกความคิดสู่ปัญญา