อดีตพระพรหมดิลก-ผู้ช่วย กลับเข้าโบสถ์นุ่งห่มจีวรภายหลังศาลอุทธรณ์แก้ยกฟ้อง ไม่ผิดฐานฟอกเงิน งบ ร.ร.พระปริยัติธรรม

0
1202

วันนี้ (23 ก.ย.2563) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี กรุงเทพฯ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 คดีฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเอื้อน กลิ่นสาลี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา  กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับนายสมทรง อรรถกฤษณ์ อดีตพระอรรถกิจโสภณ และเลขาเจ้าคณะกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีร่วมกันฟอกเงิน จากการทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณ พศ. ปี 2557 ให้กับวัดสามพระยา จำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งที่ไม่มีโรงเรียน โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา นำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ซึ่งอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2561

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 ว่า กระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงิน 2 กระทงๆ ละ 2 ปี ให้จำคุกนายเอื้อน หรืออดีตพระพรหมดิลก รวมจำคุก 6 ปี และนายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี วันนี้จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับการประกันตัว สวมชุดขาวเดินทางมาศาล พร้อมด้วยกลุ่มพระสงฆ์และกลุ่มฆราวาส ที่ติดตามฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจจำเลย

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เรื่องการขออนุมัติงบศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น หาใช่เฉพาะวัดที่มีโรงเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม แต่วัดสามพระยามีโรงเรียนสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ย่อมมีสิทธิ์ในการใช้งบดังกล่าว

จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวกับสำนักงาน พศ. ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทราบว่าเงินเกี่ยวกับการกระทำความผิด ในหนังสือระบุได้รับเงินเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นงบบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อได้รับงบ 5 ล้านบาทตามเช็คแล้ว จำเลยได้มอบอำนาจให้มีการถอนเงินจ่ายค่าก่อสร้างอาคารร่มธรรม วัดมีการก่อสร้างอาคารและโอนเงินชำระหนี้จริง โดยจำเลยจ่ายเงินให้ผู้ดูแลการก่อสร้าง เชื่อได้ว่าจำเลยในฐานะผู้ดูแลวัดได้นำเงินไปทำนุบำรุงวัด แม้วัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม และไม่ได้นำเงินไปใช้โดยตรง ก็ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ พิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง

ภายหลังเดินทางกลับมาถึงวัดสามพระยาแล้ว ทั้งอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ ได้กลับมาห่มจีวร พร้อมทั้งเข้าทำพิธีในพระอุโบสถเบื้องหน้าพระประธาน โดยมีคณะสงฆ์วัดสามพระยาเข้าร่วมพิธี จากนั้นนายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความ ได้อ่านคำพิพากษาแจ้งต่อคณะสงฆ์วัดสามพระยา ว่าศาลได้ยกฟ้องอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณแล้ว จากนั้นคณะสงฆ์วัดสามพระยาไม่มีผู้ใดเห็นค้าน พร้อมทั้งเปล่งเสียงสาธุ และเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ

นายอรรณพ กล่าวว่า การดำเนินคดีกับอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ ไม่มีความเป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการออกหมายเรียก แต่กลับมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมตัวเลย ส่วนขั้นตอนตามพระธรรมวินัยก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการ เพราะอดีตพระพรหมดิลก เป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ตามขั้นตอนแล้วต้องกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และตั้งคณะวินัยธรขึ้นมาสอบสวนก่อน หากพบว่ามีความผิดจึงดำเนินการกล่าวโทษทางอาญา จึงกล่าวได้ว่าการดำเนินคดีดังกล่าวอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งทางพระธรรมวินัย และทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงการฟ้องกลับแต่อย่างใด

ด้านนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการ พศ. ในฐานะโฆษกพศ. กล่าวว่าถึงกรณีที่อดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ ไม่ได้เปล่งวาจาสึก และกลับไปห่มจีวรว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องพระธรรมวินัย ซึ่งจะต้องเป็นการพิจารณาของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์

นายสิปป์บวร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมส. เคยมีมติรับทราบ เรื่อง การพ้นจากความเป็นพระภิกษุ กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา จากกรณีที่มีพระภิกษุถูกจับกุม กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา โดยพศ.ได้นำกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28, 29, 30 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาชี้แจงทำความเข้าใจ ดังนี้ 1.พระสงฆ์รูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน 3 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 2.พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไปควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณะเพศเสียได้ 3.เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขับพระรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณะเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น กรณีจำเลยยอมสึก ถอดจีวรออก เพราะถูกจับความผิดอาญา และพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว ต่อมาได้รับการประกันตัว กลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุอีก โดยมิได้อุปสมบทใหม่ จะมีความผิดฐานแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุสามเณรโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 208

พระภิกษุที่สละสมณะเพศกรณีกระทำความผิดทางอาญาและศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมา สามารถเข้ามาบวชได้ 2.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและรอลงอาญา เมื่อพ้นจากระยะเวลาการรอลงอาญา สามารถเข้ามาบวชได้ เว้นแต่ 3.ผู้ที่พันจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสฆ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 หรือไม่ก็ตาม จะบรรพชาอุปสมบทอีกไม่ได้ และถ้าหากมารับบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวเท็จ หรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

///////////////////////////////////////////////////////////////////