องค์กรเด็กร้อง รมว.ยุติธรรม คุ้มครอง 2 เด็กหญิงถูกครูข่มขืน เข้าสู่กระบวนการเยียวยา-คุ้มครองพยาน ควบคู่การฟื้นฟูสภาพจิตใจ

0
407

วันนี้ (12พ.ค.63) เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) นางทิชา  ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก  พร้อมด้วยนายชูวิทย์  จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมกว่า 10 คน  เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายสมศักดิ์  เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงนำผู้เสียหายและครอบครัว เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ  เสริมพลังเพื่อให้ผู้เสียหายมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และได้เข้าถึงการเยียวยาจากกองทุนยุติธรรมกรณีครูและรุ่นพี่รวม 7 คน ข่มขืนนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาที่ 2 และ 4 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.มุกดาหาร

นายชูวิทย์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน  ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐมาอย่างอย่างนาน จากข่าวที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ กรณีเด็กถูกครู 5 คนและศิษย์เก่าอีก 2 คน ข่มขืนต่อเนื่องตั้งแต่มีนาคม 2562- มีนาคม 2563 โดยพบว่ามีการถ่ายคลิปไว้เพื่อแบลคเมล์ข่มขู่  กรณีนี้ผู้เสียหายเป็นนักเรียนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร  เหตุเกิดในพื้นที่ สภ.ผึ่งแดด ทางศึกษาธิการจังหวัดมุกดาหารได้ให้ครูทั้ง 5 คนออกจากราชการไว้ก่อน และสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงตามที่ปรากฏเป็นข่าว   แต่ล่าสุดผู้ต้องหาทั้งหมดได้เข้ามอบตัวและรับการประกันตัวออกไป ทำให้น่าเป็นห่วงว่าผู้เสียหายและครอบครัวจะถูกข่มขู่ คุกคามเอาชีวิตหรือเสียหายต่อรูปคดี เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ก่อเหตุจำนวนมาก กระทำกันเป็นกระบวนการมายาวนานนับปี  และอาจมีอิทธิพลมีอำนาจแฝงเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ล่าสุดมีข่าวทางสื่อมวลชนถึงดำริของท่าน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อการจัดการกับกรณีนี้แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีในความฉับไวต่อสถานการณ์  แต่ในทางปฏิบัติจริงคงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่ารูปธรรมจะเป็นอย่างไร

“สิ่งที่น่าเศร้าใจอีกเรื่องคือมุมมองความคิดของครูบางส่วนที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมุ่งไปทางกล่าวโทษให้ร้ายเด็ก  ทั้งที่เขาเป็นฝ่ายถูกกระทำเป็นผู้เสียหาย  และสื่อสารไปในทางปกป้องผู้ก่อเหตุ เสมือนหนึ่งว่าเรื่องแบบนี้ใครๆ ก็ผิดพลาดกันได้  ซึ่งถือเป็นตรรกวิบัติที่ไม่ควรเกิดขึ้นในคนที่มีวิชาชีพครู  การให้โอกาส ให้ความรัก ความเมตตาลูกศิษย์ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ มิใช่การใช้อำนาจที่เหนือกว่าทั้งกายภาพและหน้าที่การงาน  มาเป็นโอกาสในการข่มขืน  คุกคามทางเพศเช่นนี้  และครั้งนี้ทีมงานตั้งใจเข้าไปช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้เสียหายอย่างเต็มที่ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจนสุดทาง” นายชูวิทย์ กล่าว

นางทิชา  กล่าวว่า จากประสบการณ์การเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในคดีเด็กและเยาวชน เช่นกรณีค้ามนุษย์ที่ผู้เสียหายเป็นเด็กในพื้นที่บ้านน้ำเพียงดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน  รวมถึงกรณีเด็กหญิงถูกรุมโทรมจากผู้ชายหลายสิบคน นานนับปีในพื้นที่ บ้านเกาะแรด จ.พังงา เมื่อสามปีก่อน ข้อค้นพบที่น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนในการทำงาน  จากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน  พบว่ายังมีช่องว่างบางประการ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการยุติธรรม และการคุ้มครองเด็กและเยาวชนผู้เสียหายและครอบครัว

“เมื่อมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันอีกที่จังหวัดมุกดาหาร เครือข่ายจึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมดังต่อไปนี้  1. ขอสนับสนุนกระทรวงยุติธรรม ให้เร่งรัดกระบวนการนำเด็กนักเรียนผู้เสียหายและครอบครัว  เข้าสู่การคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยเร็วที่สุด รวมถึงการเร่งรัดมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนยุติธรรมเป็นการด่วน 2. นอกเหนือจากมิติด้านความปลอดภัยในกระบวนการคุ้มครองพยานแล้ว ข้อที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหายและครอบครัว ยิ่งกรณีนี้มีการข่มขืนจากครูหลายคนมาอย่างยาวนาน  นอกจากการมีและใช้อำนาจของครูในทางฉ้อฉลแล้ว  ยังสะท้อนความหวาดกลัวและด้อยในการต่อรองของนักเรียนที่เป็นผู้เสียหายด้วย จำเป็นต้องมีการฟื้นฟู การเสริมพลังเพื่อให้ผู้เสียหายเห็นคุณค่าของตัวเองและพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 3.ขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งาน ในการระดมสมองเพื่อหาทางออกจากเขาวงกตที่ทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับบุคลกรทางการศึกษาและบุคลากรในส่วนราชการ โดยเชิญภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์ด้านนี้  มาร่วมหาทางออกอย่างเป็นระบบ และ 4.ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารโดยไม่ละเมิดสิทธิเด็ก และครอบครัวผู้เสียหาย  ระมัดระวังไม่ตอกย้ำหรือกดทับสร้างบาดแผลทางจิตใจซ้ำเติมทั้งทางตรงและทางอ้อม” นางทิชา กล่าว