ห่วงอุบัติเหตุพุ่ง!! ช่วงสงกรานต์ พบสถิติช่วงหลังโควิด ปี 65 เสียชีวิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงโควิดระบาด

0
158

วอนผู้ว่าฯ กทม. คุมเข้มสงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย สกัดปัญหาเมาซิ่ง ลวนลามทางเพศ วอนบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ตั้งจุดรับเรื่องร้องเรียน พร้อมกลไกระงับเหตุ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 66  ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า  เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต  และเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง  กว่า 50 คน เดินทางมารณรงค์สงกรานต์ 2566  “สาดไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง”  กับทาง กรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมปล่อยขบวนสามล้อ  จักรยานยนต์รณรงค์   และรับมอบสื่อประชาสัมพันธ์จากนางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และในตอนท้ายเครือข่ายได้ยื่นหนังสือสนับสนุนมาตรการคุมเข้มช่วงสงกรานต์ของ กทม.  ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และการคุกคามทางเพศ  พร้อมเสนอให้จัดหน่วยรับแจ้งเหตุไม่พึงประสงค์ในพื้นที่เล่นน้ำ  สร้างความปลอดภัยให้คนทุกช่วงวัยตลอดจนนักท่องเที่ยว

นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้วิเคราะห์ข้อมูล จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูล 3 ฐาน) พบว่า ในปี 2562 ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ช่วงสงกรานต์อยู่ที่ 25.2 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2563 ซึ่งมีโรคโควิด-19 ระบาด อุบัติเหตุลดลงมาอยู่ที่ 10.9 รายต่อแสนประชากร เนื่องจากมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมสงกรานต์ ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนปี 2565 หลังการระบาดเริ่มคลี่คลาย ก็พบว่าตัวเลขอุบัติเหตุกลับมาสูงขึ้น อยู่ที่ 27.2 รายต่อแสนประชากร ดังนั้นในปีนี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงคาดการณ์ว่าอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนจะเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมการอย่างเต็มที่ เพราะเป็นปีแรกที่กลับสู่ภาวะปกติหลังโควิด-19 ระบาด มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งหากปล่อยปละละเลยอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและสูญเสียเกิดขึ้นได้  สสส.และภาคีมุ่งหวังให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ประชาชนจะมีความตระหนักในการเล่นสงกรานต์ที่ปลอดภัย โดยการดื่มไม่ขับ ไม่ดื่มสุราบนรถขณะอยู่ในทาง ไม่ทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง ไม่ลวนลาม ฉวยโอกาส  จึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร ที่จะช่วยกันในการดูแลพื้นที่เล่นน้ำในหลายพื้นที่ให้ปลอดภัย  ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายและร่วมสืบสานประเพณีที่ดีงาม

ด้าน นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า เครือข่ายฯ  มีความห่วงใย และมีข้อเสนอไปยังกทม. ดังนี้ 1. ขอสนับสนุนนโยบาย กทม. ที่ระบุให้พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอให้เพิ่มการเฝ้าระวังป้องกัน ปัญหาการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความปลอดภัยกับคนทุกช่วงวัย 2.เร่งประชาสัมพันธ์ และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับความผิดซึ่งเป็นผลมาจากการดื่ม อาทิ การดื่มแล้วขับ ดื่มบนรถขณะอยู่บนทาง ทะเลาะวิวาท ตลอดจนความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอาทิ การลวนลาม คุกคามทางเพศ 3. ขอให้กำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียน กรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ มีกลไกช่วยเหลือ ระงับเหตุที่ทำได้จริง และ 4. ขอเรียกร้องต่อประชาชน นักท่องเที่ยว ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง เมื่อพบพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เทศกิจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่.

*****************************************************************