“หลวงพี่น้ำฝน” ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนามบุษราคัม แห่งที่ 2 ในพื้นที่รพ.สามพราน

0
371

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่โรงพยาบาลสนามบุษราคัมแห่งที่ 2 ในพื้นที่ลานจอดรถโรงพยาบาลสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครปฐม ร่วมพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามบุษราคัมแห่งที่ 2  พร้อมเยี่ยมชม โดยมีพระเทพศาสนาภิบาล (หลวงพ่อแย้ม) เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง อ.สามพราน เป็นองค์ประธานในพิธี โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ สส.จังหวัดนครปฐม  นายบุญเชิด  กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม  นายพัฒนพงษ์ สร้อยอินทรากุล นายอำเภอสามพราน นายแพทย์ ทินกร  ชื่นชม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามพราน  นายประมวล  โฆษิตชัยมงคล สาธารณสุขอำเภอสามพราน นายวุฒิชัย  วังพรม รองนายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง  คณะผู้บริหารและแพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลสามพราน ร่วมพิธี

ทั้งนี้ จากดำริของพระเทพศาสนาภิบาล ที่ได้เห็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต้องนอนรอเตียงเพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล และการส่งต่อรักษาในรพ.อื่นๆ จึงได้สั่งการให้นำเต็นท์ขนาดใหญ่ พร้อมประสานคณะศิษย์ และนายจำรัส ตั้งตระกูลธรรม นายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง มอบเตียงเหล็กสนามพร้อมหมอนและที่นอน จำนวน 50 เตียง นำตั้งในเต็นท์โรงพยาบาลสนามบุษราคัม แห่งที่ 1 ในการรับรักษาผู้ป่วยที่เป็นสีส้ม และผู้ป่วยสีแดงเข้ารักษาไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อยอดผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้น  พระเทพศาสนาภิบาล  จึงได้สั่งการให้มีการตั้งเต็นท์เปิดโรงพยาบาลสนามบุษราคัม แห่งที่ 2 ขึ้นอีกจำนวน50 เตียง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับโรงพยาบาลสนามบุษราคัม แห่งที่ 2 นี้ได้มีการปรับข้อบกพร่องจากโรงโรงพยาบาลสนามบุษราคัม แห่งที่ 1 มาใช้ ด้วยการเดินท่อออกซิเจนเหลว ไปยังเตียงผู้ป่วยทั้ง 50 เตียง ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว ลดการใช้เครื่องผลิตออกซิเจนที่กำลังขาดแคลน ลดการทำงานของบุคลากรที่จะต้องสวนชุด PPE เข้าไปดูแลผู้ป่วย รวมทั้งการใช้ระบบคิวอาร์โค๊ต สแกนไลน์เพื่อผู้ป่วยและแพทย์ พยาบาลได้สื่อสารสอบถามอาการผ่านแอฟพิเคชั่น ให้เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลคอยดูแล รวมทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจดูคนไข้หากเกิดวิกฤติ จะสามารถช่วยเหลือได้ทันที

พระเทพศาสนาภิบาล  กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามบุษราคัม แห่งที่ 2 นี้ วัดไร่ขิงเป็นหลัก และมี ผู้ใหญ่บางท่าน เช่น สส.เผดิมชัย  รวมทั้งเทศบาลเมืองไร่ขิง มาเป็นผู้อุปถัมภ์ สิ่งที่เห็นก็คิดว่ายังไม่พอ ถ้ามันไม่พอก็คงต้องต่อเพิ่มไปอีกเต็นท์ แต่ฟังข่าวของรัฐบาลก็รู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย  ที่เป็นห่วงก็คือท่านหมอทินกร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามพราน รองพัชรีและแพทย์พยาบาล เพราะว่าทำงานหนักมาก ไปไหนไม่ได้ก็ต้องสู้กัน เพราะฉะนั้นเขาจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เข็มที่ 4 ก็ให้ฉีดไปเลย พวกนี้เขาหนักนะ เพราะถ้าแพทย์พยาบาลติดโควิดก็รู้สึกเป็นห่วง ความรู้สึกของคณะสงฆ์โดยภาพรวมก็อยากจะช่วยไม่อยากเห็นเลยทีละ 2 ศพ 3 ศพ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอวัดไร่ขิงเผาศพทุกวัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องระวังโรคแทรกซ้อน   โดยภาพรวมหมอก็ทำดีที่สุดแล้ว

พระเทพศาสนาภิบาล กล่าวต่ออีกว่า ต้องขอขอบคุณหลวงพี่น้ำฝน พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ องค์นี้หนักกว่าเรา เตาระเบิดแล้วเผาทุกวันและเผาเอง ให้สัปเหร่อเผาบ้าง หาพระแบบนี้ยาก ก็ทำงานด้วยกัน ขอบคุณที่มาให้กำลังใจ มาร่วมพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามบุษราคัมแห่งที่ 2  ขอให้ญาติโยมทุกท่านปลอดภัย หลายโรคมีโชคมีลาภมีทรัพย์ มีสินอยู่เย็นเป็นสุข ทุกคนทุกท่านเทอญ

ในการนี้เจ้าคณะภาค 14 ได้มอบเจลล้างมือและยาสมุนไพรให้กับโรงพยาบาลสามพราน  เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วย  และรับมอบชุด PPE จากนายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ สส.จังหวัดนครปฐม เพื่อส่งต่อให้แพทย์ พยาบาล

ด้านนายแพทย์ทินกร ชื่นชม รองนายแพทย์สาธารณสุข  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามพราน กล่าวว่า เต็นท์ 2 เต็นท์นี้เป็นโรงพยาบาลสนามบุษราคัม(วัดไร่ขิง) ซึ่งองค์ประกอบเป็นอาคารที่เป็นเต็นท์สองหลังจุผู้ป่วยได้หลังละ 50 และ 51 คน รวมแล้วสองเต็นท์ 101 คน และมีสถานปฏิบัติการห้องควบคุมหรือเนอสสเตชั่น 1แห่ง  มีห้องน้ำอยู่ 2 แห่ง  ซึ่ง ทั้งหมดนี้รวมทั้งโครงสร้างของอาคารเต็นท์ระบบแสงสว่างอุปกรณ์เครื่องนอนระบบระบายอากาศทั้งหลายได้รับการบริจาคทั้งหมด  แม้แต่เสื่อน้ำมันและพื้นทั้งหมดส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ได้รับบริจาคเหมือนกัน  ได้แก่ระบบการส่งออกซิเจนเหลวทางท่อ ระบบเครื่องผลิตออกซิเจน ระบบเครื่องช่วยหายใจหรือแม้แต่ตัวน้ำดื่มและอุปกรณ์สาธารณูปโภค  อาหาร  เสื้อผ้าผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับบริจาคจากผู้มีอุปการะทั้งหลาย  รวมทั้งตัวห้องน้ำทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้พวกเรามีกำลังใจในการทำงานก็คือการมีส่วนร่วมในการฝ่าวิกฤต โควิด-19

นายแพทย์ทินกร กล่าวต่อว่า เราใช้การมีส่วนร่วมในการเคลื่อนที่เร็วการเข้าหาประชาชนอย่างรวดเร็วในระบบต่างๆ ต้องทำงานแบบสอดคล้องกันตั้งแต่ค้นหา ให้ภูมิคุ้มกันโรค รักษาคนไข้และฟื้นฟูสภาพคนไข้ ใช้ 4 ยุทธศาสตร์นี้ในการลงไปกำกับ เช่น การค้นหาเราก็จะมีการเข้าไปตรวจเชิงรุก การให้ภูมิคุ้มกันโรคก็คือการลงไปฉีดวัคซีน โดยมีอาคาร 84 พรรษาเป็นเซ็นเตอร์หลักและมีการเคลื่อนที่เข้าไปฉีดในโรงงานอุตสาหกรรมในสถานประกอบการหรือในบ้านพักผู้สูงอายุและเราก็ได้ร่วมมือกับทางผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าตำบลใดที่มีผู้ประสงค์จะฉีดวัคซีนให้นัดเวลา ทางโรงพยาบาลก็จะลงไปฉีดให้  ในส่วนภาคการรักษาเมื่อมีการเข้าระบบศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนาม  เราก็จะมีเข้าไปแจกอุปกรณ์ทางการแพทย์ คือ เครื่องวัดอุณหภูมิเครื่องวัดออกซิเจน มีการส่งยาทั้งฟาวิพิราเวียและฟ้าทลายโจร ลงไปยังผู้ป่วยโดยการร่วมมือของตั้งแต่อสม. พี่น้อง รพ.สต.และก็ท้องถิ่นในการเข้าไปเยี่ยม ดูแล และเรามีระบบการเอ็กซเรย์ปอด เป็นเอกซเรย์เคลื่อนที่เราก็จะนัดมาเอกซเรย์กันสัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้งในผู้ป่วย 1 คนจะต้องได้รับเอกซเรย์ 1 ครั้งถ้าทุกอย่างปกติอันนี้คือมาตรการของเรา

“คือตอนนี้เรากำลังดูเคสของการระบาดของโรค เราเข้าใจว่ามันขึ้นมาจนถึงจุดสูงสุดของเคสและมีการชะลอตัวอันนี้คือสัญญาณที่ดี  ถ้าการป้องกันโรค ก็คือวัคซีนให้เต็มที่และมาตรการมีระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยอย่างเข้มข้น เราก็มีความหวังว่าเมื่อปลายเดือนนี้ไปก็อาจจะมีข่าวดีเรื่องการชะลอตัวของการเกิดผู้ป่วยรายใหม่และการลดลงของผู้ป่วยหนัก แล้วก็ยังดำเนินการสู้กับโลกนี้ต่อไป ถามว่าเราต้องอยู่กับมันไหมเราต้องอยู่กับมันโควิด-19  แต่อยู่แบบเราควบคุมโควิดได้  และหากถามว่างานหนักไหมงานหนัก แต่ว่าถ้าประชาชนเข้าใจเรากำลังใจก็จะมาหาเรา ขอความเข้าใจว่าการทำงานสู้กับวิกฤติครั้งนี้มันต้องมีช่องโหว่หรือต้องมีผิดพลาด  ถ้าเราให้กำลังใจกันก็จะเข้าใจซึ่งกันและกัน ความหนักหน่วงตรงนี้ก็จะแปรกลับมาเป็นกำลังใจให้พวกเราในการทำงานต่อไป” น.พ.ทินกร กล่าว