สุดคึกคัก “รามาวตาร” รอบพิเศษ ณ นครหลวงเวียงจันทน์ วธ.จัดฉายรอบพิเศษ คณะทูตานุทูต ผู้บริหารส่วนราชการ เด็กและเยาวชน เข้าชมอย่างเนืองแน่น

0
1869

วธ. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ และกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจัดฉายแอนิเมชัน “รามาวตาร” รอบพิเศษ ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กระชับสัมพันธ์มิตรประเทศอาเซียน

วันนี้ (29 พฤษภาคม 2562) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) นำคณะผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย  นายประดิษฐ์ โปชิว ผู้ตรวจราชการ วธ. นางพิมพ์กาญจน์ ชัยจิตสกุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม นางสาวพจมาลย์ เกียรติธร ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  นายชัยพร สุขเอี่ยม รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ นายเผด็จ สุขเกษม วัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย นางเกศินี สวัสดี วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี นางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และคณะ เข้าร่วมประชุมหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรมทั้งหมด ณ ห้องลาวพลาซ่า 3 โรงแรม Lao Piaza Vientiane สปป.ลาว

ภายหลังการประชุมหารือดังกล่าว นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ปี 2562 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่น “รามเกียรติ์ จากจิตรกรรมรอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอน รามาวตาร” ให้เป็นสื่อนวัตกรรมรูปแบบดิจิตอล ที่ได้นำภาพตัวละครจากจิตรกรรมฝาผนังจากรอบระเบียงวัดคู่บ้านคู่เมืองของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้ช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นเป็นผู้เขียนภาพ ซึ่งมีความยาวกว่า 178 ห้องภาพ หรือประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มด้วยการนำ ตอน รามาวตาร ที่กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการอวตารของพระนารายณ์เป็นพระรามเพื่อปราบทศกัณฐ์ มาสร้างสรรค์ให้เคลื่อนไหวเหมือนมีชีวิต เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจในเนื้อหาสาระได้ง่ายขึ้น มีความสนุกสนาน สอดคล้องกับยุคสมัย และเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น และยังเป็นกิจกรรมเฉลิมฉลอง ในโอกาสที่ยูเนสโก ประกาศขึ้นบัญชีโขนในประเทศไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังใช้เป็นสื่อกระชับความสัมพันธ์มิตรประเทศอาเซียนให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น ในปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนนี้

นายวีระ กล่าวว่า ภาพยนตร์แอนิเมชันรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร ได้มีการเปิดตัวและฉายให้ประชาชนได้ชมในกรุงเทพมหานคร และในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ยอดนิยมของคนไทย เมื่อช่วงวันวิสาขบูชา ที่ผ่านมา ทั้งยังมีการเปิดตัวและฉายภาพยนตร์ ในภาษาอินโดนีเซีย เมื่อเดือน เมษายน ๒๕๖๒ ณ กรุงจาการ์ตา และ ณ โรงภาพยนตร์ เมืองยอกยาการ์ตา โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ให้เกียรติไปเป็นประธาน ซึ่งได้รับการชื่นชมจากผู้ชมชาวอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก

และในระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2562 กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำภาพยนตร์แอนิเมชัน รามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร ไปเปิดตัวและจัดฉาย ณ หอวัฒนธรรม นครเวียงจันทน์ และที่โรงภาพยนตร์ เมเจอร์ แพลตินัม ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าเวียงจันทน์ เซ็นเตอร์ ณ นครเวียงจันทร์ โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ศ.ดร.บ่อแสงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ร่วมงานเปิดตัวและชมภาพยนตร์ดังกล่าว

“การเผยแพร่ภาพยนตร์รามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร ในครั้งนี้ เป็นการสร้างการรับรู้และแสดงถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนและการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 และ 35ในเดือนมิถุนายนและพฤศจิกายน 2562 และจากมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 8 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อตุลาคม 2561 ประกาศให้ปี พ.ศ. 2562 เป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประเทศอาเซียนได้ร่วมกันใช้มิติวัฒนธรรมเป็นสื่อส่งเสริมความเข้าใจ ตระหนักรู้ และความภูมิใจในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของอาเซียน ร่วมสร้างความปรองดอง และเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีในภูมิภาคผ่านมิติทางวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมายาวนาน วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศล้วนมีอัตลักษณ์ ความเชื่อมโยงที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด การแต่งกาย ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งผสานให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความรักและความผูกพันต่อกัน มรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่างล้วนมีความเชื่อมโยง ถือเป็นวัฒนธรรมร่วม เช่น วรรณกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ ที่ได้นำเค้าโครงเรื่องมาจากมหากาพย์ รามายณะ ของอินเดีย นำมาสร้างสรรค์จนเป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมทั่วไปในภูมิภาคอาเซียน” นายวีระ กล่าว