สืบค้น… ขุนนางในละคร “บุพเพสันนิวาส” วัฒนธรรมการเหน็บกริชในราชสำนักสยาม

0
8854

ขอขอบคุณ เพ็จ Fecebook : วิพากษ์ประวัติศาสตร์

สืบเนื่องจากในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มีฉากตัวละครที่เป็นขุนนางสมัยกรุงศรีอยุธยา เหน็บกริชเหมือนกับเป็นเครื่องบ่งบอกยศฐาบรรดาศักดิ์ เลยทำให้เกิดข้อสงสัยกับผู้ชมหลายคนว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีธรรมเนียมดังกล่าวจริงหรือเปล่า

ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักฐานแล้ว พบว่าข้าราชการสมัยสมเด็จพระนารายณ์เหน็บกริชเป็นเครื่องยศจริงโดยปกติ คนไทยสมัยโบราณนิยมพกมีดเหน็บติดตัวสำหรับใช้งานเอนกประสงค์ทั่วไป สามารถใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้ เมื่อจำเป็น เพราะหยิบใช้ได้ง่ายทันท่วงที แต่สำหรับผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ พบว่า นิยมเหน็บกริชซึ่งเป็นอาวุธจากวัฒนธรรมภูมิภาคมลายูและอินโดนีเซีย แต่สันนิษฐานว่าใช้เป็นเครื่องประดับยศฐาบรรดาศักดิ์มากกว่าใช้เป็นอาวุธ

(ซ้าย) ภาพพิมพ์แกะไม้ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูตที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เหน็บกริชที่เอว ผลงานของ ฌ็อง-บัพติสต์ โนแล็ง (Jean – Baptiste Nolin)

(ขวา) ภาพร่างหีบพระราชสาส์นและกริชประจำตัวของคณะทูตกรุงศรีอยุธยา ที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ผลงานของ ชาร์ลส์ เลอ เบฺริง (Charles le Brun) จิตรกรราชสำนักในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

ภาพในงาน “กริชาภรณ์” จ.ปัตตานี

สันนิษฐานว่า วัฒนธรรมการคาดกริช (เหน็บกริช) น่าจะเข้ามาในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) อาณาจักรฮินดูที่มีศูนย์กลางอยู่บนเกาะชวา และได้แผ่ขยายอำนาจมาถึงบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบันถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องจากพบทวารบาลแกะสลักไม้บนบานประตูวัดสิงหาราม จังหวัดลพบุรี ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นถือกริชสมัยมัชปาหิต

เนื่องด้วยกรุงศรีอยุธยาแผ่ขยายอำนาจลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช จึงทำให้มีเขตแดนติดต่อกับรัฐในแหลมมลายู จึงพบว่ามีความสัมพันธ์กับรัฐมลายูหลายด้าน ทั้งการศึกสงครามที่คุกคามรัฐในคาบสมุทรมลายูอย่าง “ปาตานี” มะละกา สมุทร-ปาไซ จนปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ระบุว่า มีเมืองอุยองตะหนะ (มาจาก อุยงคตนะ หมายถึงแผ่นดินปลายแหลมมลายู) เมืองมลากา เมืองมลายู เป็นประเทศราชถวายดอกไม้ทองดอกไม้เงิน และในสมัยยุธยาตอนกลางก็ปาตานี สงขลา ไทรบุรี ยอมส่งบรรณาการให้การยอมรับอำนาจของอยุธยาด้วย

กรุงศรีอยุธยา ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัฐในคาบสมุทรมลายูทำให้มีชาวมลายูเข้ามาทำการค้าและตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งพักพิงของมุสลิมจากหมู่เกาะอินโดนีเซียอย่าง ชวา มากัสซาร์ (Makassar) หรือแขกมักกะสันจากหมู่เกาะซีลีเบส (Celebes) ซึ่งลี้ภัยมาจากการคุกคามของดัตช์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ สมัยอยุธยาตอนกลาง

นอกจากมุสลิมจากภูมิภาคมลายูและอินโดนีเซียแล้ว ยังมี “แขกจาม” หรือชาวจามปาจากตอนใต้ของเวียดนามซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากมลายูและคาดกริชอย่างมลายู อยู่ในอยุธยาจำนวนมาก โดยสันนิษฐานว่าถูกกวาดต้อนเข้ามาเมื่ออยุธยาทำสงครามกับกัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ กรุงศรีอยุธยาจึงมีชุมชนมุสลิมในเอชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่รอบพระนครหลายแห่ง เช่น ชุมชนแขกจามอยบริเวณคลองคูจาม ชุนชมแขกตานีหรือปาตานีบริเวณริมวัดลอดช่อง บ้านหัวแหลม ชุมชนแขกมลายูบริเวณปากคลองตะเคียน ชุมชนแขกชวาและแขกมักกะสันบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้คลองตะเคียนทางทิศใต้

มุสลิมกลุ่มนี้มีเป็นมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในอยุธยา และได้เข้าไปมีบทบาททางราชการในราชสำนัก โดยถูกจัดตั้งขึ้นเป็นกรม “กรมอาสาจาม” ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแขกจาม แต่มีมุสลิมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซียรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก ซึ่งมุสลิมกลุ่มนี้ใช้กริชเป็นอาวุธ ดังที่ปรากฏในลิลิตพยุหยาตราเพชรพวงของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า “จามเจนพวกอาสา กริชกรีด กรายนา”

สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอิทธิพลของมุสลิมกลุ่มนี้ที่นำวัฒนธรรมการใช้กริชให้แพร่หลายในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น จากเดิมที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่สมัยมัชปาหิตที่ชาวมลายูยังนับถือศาสนาฮินดูอยู่

ร่องรอยของกริชในสยาม พบหลักฐานเป็นกริชหลายรูปแบบทั้งกริชในจากคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย รวมถึงกริชที่คนไทยตีขึ้นเองซึ่งพบมากในภาคใต้ นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานในจิตรกรรมไทยสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์จำนวนมาก (ส่วนมากมักพบที่ภาพเซี่ยวกาง) แสดงภาพกริชหลากหลายสกุลช่าง ทั้งปาตานี ชวา มดูรา บูกิส สุมาตรา ซุนดัง บาหลี ฯลฯ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยรู้จักกริชหลากหลายประเภทมาตั้งแต่โบราณแล้ว

ภาพเขียนเซี่ยวกาง ตู้พระธรรม

วัฒนธรรมการเหน็บกริช น่าจะแพร่หลายในชาวสยามทั่วไปในสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นอย่างช้า เพราะพบหลักฐานของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Verenigde Oost-Indische Compagnie; VOC) ประจำกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเรื่องการประหารชีวิตออกหลวงมงคล (Oloangh Mancongh) ขุนนางผู้ก่อกบฏต่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชว่า เขาได้ร้องขอให้เอากริชแทงหัวใจเขาให้ตายหลังจากเพชฌฆาตลงดาบไม่ถึงจุดตาย ซึ่งน่าจะสะท้อนว่ากริชเป็นอาวุธที่ใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ถึงได้เจาะจงอาวุธชนิดนี้

มาถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีการใช้งานกริชอย่างแพร่หลายทั้งพระราชวงศ์และขุนนาง และมีหลักฐานการนำเข้ากริชจากต่างประเทศอย่างชัดเจน ปรากฏในหนังสือ Du Royaume de Siam ของ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตพิเศษชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๒๓๐ ระบุว่า ขุนนางได้รับกริชเป็นเครื่องยศพระราชทานเช่นเดียวกับดาบ และใช้งานเหมือนมีดพก

 

“ส่วนมีดที่เขาเรียกว่า เหน็บ (Pen)* นั้น ใช้กันทั้งบ้านทั้งเมืองและไม่ถือว่าเป็นสาตราวุธ แม้จะใช้เป็นอาวุธได้เมื่อคราวจำเป็น ใบมีดนั้นกว้าง ๓ หรือ ๔ นิ้ว ยาวราว ๑ ฟุต. พระมหากษัตริย์พระราชทานดาบและมีดพกให้แก่ขุนนาง ขุนนางสยามเหน็บมีดพกไว้ที่เอวเบื้องซ้าย คล้อยมาข้างหน้าเล็กน้อย. ชาวปอรตุเกศเรียกมีดชนิดนี้ว่า คริสต์ (Christ) เป็นคำที่เลือนมาจาก กริช (Crid) ซึ่งชาวสยามใช้พกนั่นเอง. คำๆ นี้ยืมมาจากภาษามลายา เป็นที่นิยมกันตลอดทั่วภาคบูรพาทิศ และกริชที่ทำมาจากเมือง อะแจ (Achem) ในเกาะสุมาตรานั้น นับว่าเยี่ยมกว่าที่อื่นๆ. สำหรับดาบนั้น ตามปกติแล้วทาสผู้หนึ่งจะเชิญนำหน้าเจ้านายของตนไป โดยแบกไว้บนบ่าขวา ทำนองเดียวกับที่ (ทหารของ) เราแบกปืนเล็กยาวไว้บนไหล่ซ้ายฉะนั้น.”

(* สันต์ ท. โกมลบุตร ผู้แปลวิเคราะห์ว่าควรจะสะกดผิดจากคำว่า “nep” เพราะถอกเสียงตรงกับคำว่า “เหน็บ”)

ลาลูแบร์ยังกล่าวถึงการพระราชทานกริชให้หัวหมื่นมหาดเล็กทั้ง ๔ คือ จมื่นไวยวรนาถ จมื่นสรรเพญ์ภักดี จมื่นศรีสรรักษ์ และจมื่นเสมอใจราช ซึ่งเป็นผู้ถวายงานใกล้ชิดไว้ว่ามีการประดับอัญมณีด้วย

“โดยหัวหมื่นมหาดเล็กทั้ง ๔ นายนี้มีตำแหน่งอยู่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์อยู่เป็นเนืองนิจ จึงเป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั้งหลายมาก… ดาบกับกริชที่โปรดพระราชทานแก่หัวหมื่นมหาดเล็กนี้ประดับอัญมณี”

หลักฐานชิ้นสำคัญคือภาพเขียนของคณะทูตชุดออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) หรือ โกษาปาน ซึ่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๒๒๙ พบว่า ทั้งราชทูต อุปทูต และตรีทูตต่างก็เหน็บกริชมลายู ซึ่งเพจ กริชเมืองตรัง KerisTrang ให้ข้อมูลว่าเป็นกริชศิลปะชวาตะวันออก ยุคอาณาจักรมาตาราม (Mataram) รัฐสุลต่านบนเกาะชวาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ถึง ๑๘ ร่วมสมัยกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีด้ามลักษณะคล้ายฝักข้าวโพด แกะสลักลวดลายซึ่งได้อิทธิพลฮินดูชวา

สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงคาดกริช แต่ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย (Indo-Persian culture – เครือข่ายวัฒนธรรมตั้งแต่เปอร์เซียหรืออิหร่านมาถึงอินเดีย) กำลังรุ่งเรืองในราชสำนักและส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมของอยุธยาหลายประการ รวมถึงเครื่องแต่งกายด้วย จึงมีหลักฐานว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงฉลองพระองค์อย่างอิหร่าน และคาดกริชอย่างอิหร่าน ดังที่จดหมายเหตุ “สำเภาสุลัยมาน” ของราชทูตชาวเปอร์เซียที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุทธยาใน พ.ศ. ๒๒๒๙ ระบุว่า

“พระองค์ทรงเริ่มสวมเสื้อผ้าแบบอิหร่าน คือเสื้อคลุมตัวยาวมีลวดลายปัก สนับเพลา เสื้อเชิร์ต รองพระบาทและถุงพระบาท เมื่อข้าราชบริพารของพระองค์ทูลถามว่าพระองค์ประสงค์จะเหน็บอาวุธชนิดไหน ก็จะตรัสตอบว่า ‘อาวุธที่คนเราเหน็บควรต้องสอดคล้องกับบรรดาศักดิ์ของเขาสิ แลข้าพบว่ากริชแบบอิหร่านเท่านั้นจึงจะคู่ควรกับสะเอวของข้า’ แต่ทรงปฏิเสธจะสวมผ้าโพกเศียรเพราะน้ำหนักของมัน”

สอดคล้องกับรายงานของ อ็องเดร เดอล็องส์-บูโร (André Deslandes-Boureau) ผู้แทนราชบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสซึ่งได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ใน พ.ศ. ๒๒๒๓ ได้กล่าวถึงการทรงเครื่องของสมเด็จพระนารายณ์ไว้ว่า

“ฉลองพระองค์ทำด้วยแพรแดงมาจากเมืองเปอเซีย มีดอกทองประปรายรูปคล้ายเสื้อแยกเก๊ต แขนเหมือนแขนเสื้อยาว ที่บาดหลวงใส่แต่ไม่มีลูกกระดุม แลยังทรงฉลองพระองค์ชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง ทำด้วยผ้ามาจากเมืองเบงกอลเปนผ้าบางโปร่ง มีลายคล้ายลูกไม้ตามตะเข็บ ข้างซ้ายทรงเหน็บกฤชด้ามทองคำฝังพลอย แลมีพระแสงดาบยี่ปุ่นฝังพลอยวางลงบนพระเพลา พระองคุลีสวมพระธำมรงค์ประดับพลอยเมล็ดใหญ่ ๆ หลายสีหลายชนิด”

สำหรับกริชเปอร์เซียของสมเด็จพระนารายณ์ น่าจะมีลักษณะเป็นมีดสั้นโค้งสองคมที่เรียกว่า “คันจาร์ (Khanjar)” ซึ่งนิยมใช้โดยแพร่หลายในโลกมุสลิมตะวันตกทั้งเปอร์เซีย ออตโตมัน มาถึงอินเดียมากกว่ากริชอย่างมลายู มีดชนิดนี้ในภาษาไทยเรียกว่า “กั้นหยั่น” ซึ่งพบหลักฐานว่าเป็นหนึ่งในเครื่องต้นที่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงเมื่อเสด็จออกแขกเมือง

ราชสำนักอยุธยายังรับกริชไปใช้เป็นพระแสงศัตราวุธของพระมหากษัตริย์ ปรากฏในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ระบุว่ามี “พระแสงกริช” เป็น ๑ ใน ๑๒ พระแสงที่เรียกว่า “พระแสงสิบสองราษี” ซึ่งใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาด้วย

วัฒนธรรมธรรมการเหน็บกริชยังคงมีอยู่จนถึงหลังสมัยอยุธยา ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตีเมืองจันทบูรนั้น “จึงทรงพระแสงกฤชแทงพังคีรีกุญชรขับเข้าทะลายประตูพังลง”

วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนสมัย ก็ยังกล่าวถึงการเหน็บกริชอยู่หลายครั้ง ยกตัวอย่าง เช่น บรรยายการแต่งตัวของพลายแก้วว่า “เหน็บกฤชด้ามมีศีรษะกา” (น่าจะเป็นกริชหัวนกพังกะในภาคใต้ของไทย) กล่าวถึงการพกกริชของพลายชุมพลว่า “ถือกฤชน้อยค่อยย่องไม่เหยียบแรง”

นอกจากนี้ก็มักใช้สำนวนอุปมาเกี่ยวกับกริชอยู่มาก เช่น “ลาวทองน้องรักประจักษ์จิตร ดังคมกฤชกรีดทรวงออกเป็นสอง” หรือ “สร้อยฟ้าได้ฟังให้คลั่งจิตร ดังเอากฤชมาตำที่คอหอย” หรือ “นิจจาใจเจ้าจะให้พี่เจ็บจิตร ดังเอากฤชแกระกรีดในอกผัว” ซึ่งควรอนุมานได้ว่ากริชเป็นของทั่วไปที่คนใช้ในสังคมไทยยุคนั้น

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ไม่พบหลักฐานชัดเจนแล้วว่าคนภาคกลางนิยมคาดกริชอย่างในอดีต แต่ก็ยังพบว่าราชสำนักใช้กริชเป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการสำหรับประมุขต่างประเทศ โดยพบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระแสงกริชไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส และพระราชทานกริชแก่นายอัมบราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

วัฒนธรรมการเหน็บกริชเป็นเพียงหนึ่งในวัฒนธรรมต่างประเทศจำนวนมากที่สยามรับเข้ามาประยุกต์ใช้ สะท้อนถึงความเป็นสังคมนานาชาติมีชาวต่างประเทศหลายชนชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะเสื่อมความนิยมลงในภาคกลางหลังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คงเหลือแพร่หลายอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นหลัก

เอกสารอ้างอิง

– ความสัมพันธ์ อิหร่าน-ไทย ทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน, 2003

– จิดาพร แสงนิล. การศึกษาชุมชนมุสลิมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 19-23). วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548

– จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. บทบาทและหน้าที่ของขุนนางกรมท่าขวาในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2153-2435). วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.

– ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. ตำราธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา กับ พระวิจารณ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2493.

– ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม 3 เรื่อง. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2553.

– ประชุมพงศาวดารที่ 32 เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาค 1. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2467.

– พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายเหตุรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2551

– มองประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านศัสตราวุธ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2555

– ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.

– Baker, C., Dhiravat Na Pombejra, Van Der Kraan, A.,and Wyatt, D.K.. Van Vliet’ Siam. Chaing Mai: Silkworm Books, 2005

– ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ (http://vajirayana.org/)

ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจาก กริชเมืองตรัง KerisTrang

 ขอขอบคุณ ศศิเพ็ญ ละม้ายพันธุ์ สวจ.ปัตตานี (ผู้ค้นคว้า)