สิ้นสุดการรอคอย! จ.อุบลฯ จับมือ ทีม SAVEUBON ประชุมสรุปผลการปรับพื้นที่ “โคก หนอง นา”

0
380

งบพัฒนาจังหวัด ปี 2563 ณ Landmark แห่งใหม่ใกล้เมืองตัวเมือง พร้อมยึด “บวร” ขยายผลแปลงตัวอย่าง 25 แปลง เป็นศูนย์เรียนรู้สู้ภัยโควิด-19

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ณ แปลงตัวอย่าง นางรัตนภรณ์ บัวอาจ บ้านแสงทอง หมู่ที่ 8 ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ร่วมกับทีม SAVEUBON และเจ้าของแปลงตัวอย่าง 25 แปลง เพื่อประชุมสรุปผลการดำเนินงานการปรับพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบพัฒนาจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ณ แปลงตัวอย่าง นางรัตนภรณ์ บัวอาจ บ้านแสงทอง หมู่ที่ 8 ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ ทั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากท่านพระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี พระนักพัฒนาของจังหวัดที่สนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนมาโดยตลอด และได้เดินทางมามอบแนวทางการดำเนินงานในครั้งนี้ ตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ ด้วย

โอกาสนี้ ทีม SAVEUBON และเจ้าของแปลงตัวอย่างทั้ง 25 แปลง ได้แสดงความขอบคุณจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงส่วนราชการและภาคเอกชน โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน จนประสบผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและน่าประทับใจอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ท่านพระครูสุขุม วรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ยังได้เมตตาเดินทางไปตรวจเยี่ยม มอบแนวทางในการปรับพื้นที่ และเป็นกำลังใจในการดำเนินการ ณ แปลงตัวอย่างทั้ง 25 แปลง รวมถึงแปลงตัวอย่างที่ใช้ในการประชุมวันนี้ด้วย ซึ่งท่านพระครูสุขุมวรรโณภาส ได้เมตตาตั้งชื่อศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ว่า “โคก หนอง นา พัทยาน้อย” เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีหนองที่ขุดขึ้นจากโครงการ ที่มีน้ำเขียวใสสวยงามเหมือนชายหาดพัทยา มีดินร่วนปนทรายที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับการคมนาคมที่สะดวกสบายอยู่ติดกับถนนทางหลวงหมายเลข 217 ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดเพียง 20 กว่ากิโลเมตร จึงถือว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ที่น่าสนใจ และมีแนวทางที่จะขอความร่วมมือจากส่วนราชการและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้แปลงตัวอย่างแห่งนี้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวหรือ Landmark แห่งใหม่ที่สวยงามของจังหวัดได้ต่อไปในอนาคต

นอกจากนั้น นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเรียนต่อที่ประชุมฯ ถึงแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งท่านสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ฝากความห่วงใยและคาดหวังว่า กิจกรรมโคก หนอง นา จะต้องอาศัยทุกท่านเป็นกลไกสำคัญในการเป็นหน่วยผลิตเพราะต้องใช้พื้นที่ของท่านพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยแก้เเล้งเก็บน้ำฝน เก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง มีพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เกิดการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยมีหน่วยงานราชการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาผลผลิตจากโคก หนอง นา สู่เเบรนด์ “โคก หนอง นา อุบลราชธานี” ทั้งนี้ เป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้พสกนิกรชาวไทย ได้น้อมนำไปปฏิบัติ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินงานโครงการตามแผนปฏิบัติการ จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 4,489,200 บาท (สี่ล้านสี่แสนแปดหมื่นเก้าพันสองร้อยบาทถ้วน) และมอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโครงการฯ มีกลุ่มเป้าหมาย 25 แปลงตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล และพัฒนาแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” จำนวน 2 กิจกรรมหลัก คือ 1) กิจกรรมฟาร์มตัวอย่าง ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสา สร้างและพัฒนาฐานเรียนรู้  และกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์  2)กิจกรรมขยายผลแปลงตัวอย่าง 25 แปลง กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมเวทีสร้างการรับรู้ฟาร์มตัวอย่างและโคก หนอง นา / กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแผนการขับเคลื่อนแปลงตัวอย่าง / กิจกรรมเวทีขับเคลื่อนแปลงตัวอย่าง 25 แปลง / กิจกรรมเอามื้อสามัคคี สร้างและพัฒนาฐานเรียนรู้ในแปลงตัวอย่าง / กิจกรรมจัดทำเอกสารสรุปผลการดำเนินงานเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

สำหรับกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี สร้างและพัฒนาฐานเรียนรู้ในแปลงตัวอย่าง ทั้ง 25 แปลง ที่เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ได้รับความอนุเคราะห์ในการสนับสนุนเครื่องจักรกลและบุคลากรในการปรับพื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี, หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56, สำนักงานชลประทานที่ 7, สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 7 (อุบลราชธานี), ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี, บริษัท คูโบต้าเจริญชัย จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด โชคถาวร 2534 โดยจะมีการมอบใบประกาศเกียรติคุณเพื่อแสดงความขอบคุณหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ในที่ประชุมคณะกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและนายอำเภอ ประจำเดือนเมษายน 2564 ในวันที่ 28 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุมพรหมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป

ท่านสามารถติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ พิกัดที่ตั้ง และติดต่อแปลงตัวอย่างได้ทางลิงค์  https://www.google.com/maps/d/viewer?mid=1wZdnschLsBA5hmCcF8vDnRHL3gDJJvYF&ll=15.270965364358736%2C105.11330000000001&z=11

 

งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี : ภาพข่าว/รายงาน