“สำนักพุทธ” โต้นักวิชาการ ยันไม่มีกม.ใดให้อำนาจพศ.เหนือคณะสงฆ์ การแต่งตั้งสายปกครองเป็นไปตามพ.ร.บ.สงฆ์ (ฉบับที่ 4)

0
547

นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะโฆษกพศ. กล่าวว่า กรณีมีนักวิชาการออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพศ. ว่ามีอำนาจเหนือมหาเถรสมาคม(มส.) นั้น  น่าจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยกรณีที่กล่าวว่ามส. ที่ถูกตั้งคำถามว่าปล่อยให้พศ.มามีอำนาจเหนือคณะสงฆ์ ออกคำสั่ง ทำหน้าที่คล้ายเจ้านาย ส่งผลให้มส.กลายเป็นองค์กรที่อ่อนแอ โดยเฉพาะสายปกครอง ประเด็นนี้ที่มาของมส. การแต่งตั้งตำแหน่งพระสังฆาธิการที่เป็นตำแหน่งทางการปกครอง ตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 และกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ และที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วย ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์เป็นแนวทางปกครองของคณะสงฆ์แต่ละระดับ และกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ เป็นแนวทางแต่งตั้งตำแหน่งทางการปกครองในระดับต่างๆ โดยไม่มีมาตราใด ข้อ หรือวรรคใด กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพศ.

นายสิปป์บวร กล่าวต่อไปว่า กรณีกล่าวว่าพศ.ใช้อำนาจจับสึกพระซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงมส. ที่ไม่ออกมาปกป้องคณะสงฆ์ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง จากประเด็นดังกล่าวมส.มีอำนาจหน้าที่ตามที่ตราไว้ในมาตรา 15 ตรี แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 มส.มีอำนาจหน้าที่รักษาพระธรรมวินัยและใช้อำนาจผ่านการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติหรือประกาศ เพื่อให้คณะสงฆ์ปฏิบัติในการรักษาพระธรรมวินัย โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มส.จึงมีคำสั่งมหาเถรสมาคมกำหนดแนวปฏิบัติไว้ตั้งแต่ปี 2538 และการที่พระไม่มีสังกัด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มส.ได้ตรากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในหมู่สงฆ์ ส่วนกรณีกล่าวว่า หลายฝ่ายต้องการให้ศาสนาเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะที่คณะสงฆ์ไม่แสดงความคิดเห็น ถือเป็นการเพิกเฉยต่อความทุกข์ของคนในสังคมหรือไม่ ประเด็นนี้ จะเห็นได้ในทุกสภาวการณ์ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบภัยธรรมชาติหรืออุบัติภัยต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด คณะสงฆ์เป็นกำลังหลักของสังคมในการช่วยเหลือประชาชน จัดตั้งโรงครัวแจกปัจจัยต่างๆ ต่อการดำรงชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

และในกรณีที่กล่าวว่า การพัฒนาความก้าวหน้าด้านการศึกษาให้คณะสงฆ์แต่ยังถูกครอบงำด้วยอำนาจรัฐ พศ.เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นองค์กรรัฐที่ไม่ได้เข้ามาส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนา แต่กลับทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ไม่ให้การสนับสนุน ในประเด็นนี้ข้อเท็จจริง พศ.เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนา และดูแลศาสนสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และปัจจุบันนี้พศ.ผลักดันจนมีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาสงฆ์เกิดขึ้น เรียกว่า พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 เพื่อส่งเสริมให้การศึกษาคณะสงฆ์มีความมั่นคง