สำนักพุทธฯ เอาจริงหลังจับตามานาน เร่งตรวจ “เตโชวิปัสสนา” อ้อย อัจฉราวดี เจ้าของวลีร้อน “พระค่อนประเทศมอมเมาประชาชน”

0
3302

อดีตเจ้าของร้านเพชรชื่อดัง ทิ้งวงการธุรกิจหันมาตั้งสำนักปฏิบัติธรรม อ้างได้เรียนวิชาจาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) – พระพุทธเจ้ารับสั่งให้เขียนหนังสือสอนธรรมมะ ผอ.สำนักมหาเถรฯชี้หากพบบิดเบือนคำสอนอาจเข้าข่ายความผิด

จากกระแสสังคมออนไลน์ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของนางอัจฉราวดี วงศ์สกล หรืออาจารย์อ้อย ประธานมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า ผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม “เตโชวิปัสสนาสถาน” เขาพระบาทน้ำพุน้อย จ.สระบุรี สอนวิชาเตโชวิปัสสนา ซึ่งไม่มีอยู่ในหลักคำสอนพระพุทธศาสนา แต่กลับอ้างว่า วิชานี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้มาสอนด้วยตัวเอง ทั้งยังเขียนหนังสือ “ฆราวาสบรรลุธรรม” โดยระบุในหนังสือว่า พระพุทธเจ้ามีรับสั่งให้เขียน และการบรรลุนิพพานไม่จำเป็นต้องตายนั้น

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายสิปป์บวร แก้วงาม ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) คนที่ 2 กล่าวว่า หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์นั้น เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เจ้าหน้าที่ส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา พศ. ได้เข้าไปพบนางอัจฉราวดีแล้ว ที่บ้านพักย่านสุขุมวิท โดยมีการสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรื่องหลักการสอน เบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติ อย่างไรก็ตามทางนางอัจฉราวดี ได้มีการมอบหนังสือต่างๆ มาให้เจ้าหน้าที่ส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งรวมไปถึงหนังสือ “ฆราวาสบรรลุธรรม” ด้วย ดังนั้นทางพศ.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความในหนังสือมีการบิดเบือนคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะหากตรวจพบว่ามีการบิดเบือนคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้ว อาจจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาได้

“สถานปฏิบัติธรรม พศ.ยังไม่มีกฎหมายให้เข้าไปจัดการได้ จะว่าผิดพรบ.สงฆ์ เขาก็ไม่ใช่พระสงฆ์ แต่ลักษณะที่ทำก็เหมือนธุรกิจเพราะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าหลักสูตรปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นธุรกิจจะต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเงินได้ทั้งหลายจะต้องเสียภาษี จึงเป็นช่องว่างที่พศ.ดูแลได้ยาก และการเข้าไปก็อาจจะเข้าข่ายบุกรุก จึงค่อนข้างละเอียดอ่อน สิ่งที่ทำได้คือต้องสืบเสาะหาข้อเท็จจริง และจากการเข้าตรวจสอบของส่วนคุ้มครองฯ เบื้องต้นพบว่า แนวการสอนเขาใช้หลักทางพระพุทธศาสนา ส่วนเรื่องการอ้างบรรลุธรรมในสมัยพุทธกาลก็เคยมีฆราวาสดวงตาเห็นธรรม เว้นแต่ว่าหากมีการบิดเบือนคำสอนก็ต้องเข้าข่ายความผิดบิดเบือน ซึ่งทางพศ.ติดตามข่าวนี้มาราว 1 สัปดาห์แล้ว ส่วนที่มีพระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตามภาพที่ปรากฏก็ได้ส่งข้อมูลให้เจ้าคณะปกครองในพื้นที่ดำเนินการทางสงฆ์แล้วด้วย” ผอ.สำนักเลขาธิการมส. กล่าว

นายสิปป์บวร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพพระสงฆ์ยกมือไหว้นางอัจฉราวดี นั้น ทางพศ.ทราบแล้วว่าเป็นพระสงฆ์วัดใด แต่ขอไม่เปิดเผย โดยได้มีการแจ้งไปยังเจ้าคณะผู้ปกครองให้ดำเนินการแล้ว

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในวันที่ 27 ม.ค. เวลา 13.30น. นางอัจฉราวดี จะแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงในทุกเรื่อง  ที่โรงเรียนแห่งชีวิต ซอยสุขุมวิท 67 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

สำหรับประวัตินางอัจฉราวดี ในเว็บไซต์โรงเรียนแห่งชีวิต ซึ่งนางอัจฉราวดีเป็นผู้จัดตั้งขึ้น ระบุว่า อดีตเคยเป็นเจ้าของร้าน St.Tropez Diamond (แซงต์โทรแป ไดมอนด์) ผู้เชี่ยวชาญในวงการเพชรมากว่า 20 ปี แต่จิตใฝ่ธรรมจึงเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในปี 2544 เป็นการออกเดินสู่เส้นทางธรรมเป็นครั้งแรกควบคู่กับการเติบโตในวงการธุรกิจเครื่องประดับอย่างก้าวกระโดด จึงได้จัดงานอำลาวงการธุรกิจในชื่องานว่า Memoris of a Million Stars ซึ่งเป็นงานครั้งสำคัญที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนในวงการนี้ โดยประกาศอำลาชีวิตทางธุรกิจ เพื่อสอนธรรมะเต็มตัว ในปี พ.ศ. 2552 นางอัจฉราวดี เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต และองค์กรโนอิ้ง บุดด้า (Knowing Buddha) เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมเตโชวิปัสสนากรรมฐาน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ด้วย