สสส. หนุนเครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน เปิดเวทีเสวนางานประเพณีบุญบั้งไฟปลอดภัย ชูการสืบสานคุณค่างานตามประเพณี

0
144

เน้นความสุข ความสนุกและความปลอดภัย เพื่อลดปัญหาอันตรายจากการดื่ม อุบัติเหตุบั้งไฟระเบิด การพนัน และการทะเลาะวิวาท ให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสุข “บ่มีเหล้ากะม่วนได้”

เมื่อเร็วๆนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ  สสส. และเครือข่ายงดเหล้าร่วมกับภาคีจัดเวทีเสวนา “บุญบั้งไฟปลอดภัย ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน” โดยเป้าหมายเพื่อเสนอแนว และสนับสนุนให้เกิดการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่สอดคล้องกับคุณค่าและวัฒนธรรมที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการจัดงาน และหวังให้การจัดงานบุญบั้งไฟมีคุณค่า ความสุข ความสนุกและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ในงานเสวนามีตัวอย่างของการจัดงานบั้งไฟปลอดภัย 4 พื้นที่ ได้แก่ บุญบั้งไฟตะไลล้าน บ้านกุดหว้า จังหวัดกาฬสินธุ์, บุญบั้งไฟโบราณบ้านเสียว จังหวัดศรีสะเกษ, บุญบั้งไฟราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, และบุญบั้งไฟยโสธร มาร่วมนำเสนอด้วย

อ.มานพ แย้มอุทัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า งานบุญบั้งไฟในปีนี้เตรียมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่หลังจากที่ไม่ได้จัดมาหลายปี สถานการณ์จึงน่าเป็นห่วงทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ การพนันตลอดจนการแพร่ระบาดของโรคโควิด งานบุญประเพณีบั้งไฟเป็นงานแสดงถึงวัฒนธรรมที่มีความงดงามและเต็มไปด้วยคุณค่าและจิตวิญญาณ เป็นความร่วมมือกันของชุมชนโดยมีความตั้งใจที่จะทำบั้งไฟให้ดีที่สุดเพื่อจุดบูชาพญาแถน มีการแบ่งหน้าที่กัน การทำบั้งไฟ การเตรียมสถานที่ การร่ายรำบูชา เป็นต้น การเตรียมงานต้องใช้เวลา ใช้ความพยายาม และความสามัคคี เป็นประเพณีที่ลูกหลานได้ร่วมญาติพี่น้อง ที่ต้องกลับบ้านเพื่อไปร่วมงาน ซึ่งคนอีสานให้ความสำคัญกับประเพณีนี้มากกว่าสงกรานต์ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไปการจุดบั้งไฟกลายเป็นเพื่อแข่งขัน มีการดื่มสุราจนเกินขอบเขต และมีการพนัน ทำให้คุณค่าของประเพณีบั้งไฟลดลง แนวทางที่จะรักษาคุณค่าของประเพณีไว้ได้คือ ความเข้มแข็งของชุมชนที่จะรักษาประเพณี และการพัฒนาการสื่อสารสร้างความรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงในงานประเพณีบั้งไฟ สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานและพื้นที่จัดงานต่างๆ จะได้ร่วมกันออกแบบมาตรการและนโยบายเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนงานบุญบั้งไฟปลอดภัยกว่า 36 พื้นที่ เพื่อให้งานบุญบั้งไฟนำมาซึ่งความสุขสนุกสนานร่วมกันของคนในชุมชนอย่างปลอดภัย

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์  ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่าการกลับมาจัดงานบุญบั้งไฟมีนี้มีความเสี่ยงอย่างมาย ควรร่วมกันเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบและมีมาตรการเชิงรุกร่วมกัน จากการสำรวจในพื้นที่จัดงานบั้งไฟปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.42 เห็นว่าการจัดงานบั้งไฟเพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลตามความเชื่อและประเพณี ขณะที่ร้อยละ 21.74 เห็นว่าเพื่อเล่นการพนัน มีเพียงร้อยละ 5.4 เท่านั้นที่เห็นว่ามีเป้าหมายเพื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ดังนั้นการจัดงานควรเน้นที่แก่นแท้ของงานบุญประเพณีมากกว่าการจัดงานที่เน้นการดื่มหรือพนัน นอกจากนี้พบว่า ประชาชนร้อยละ 83.55 พึงพอใจต่อการจัดงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้า โดยเห็นว่าควรจัดงานให้ปลอดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 72.21)  และเห็นว่าควรจัดงานโดยปลอดการเล่นการพนัน (ร้อยละ 74.39) ควรมีการติดร่มชูชีพให้บั้งไฟเพื่อลดอันตราย (ร้อยละ 70.32) และควรปลอดการเล่นเกมเสี่ยงโชคต่างๆ อาทิ บิงโก จับสลาก ปาลูกโป่ง (ร้อยละ 63.80)

นายธนกร คมกฤต  มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การพนันในงานบุญบั้งไฟจะมี 3 แนวโน้ม ประการแรกคือ การเสียพนันอย่างแลนด์สไลด์ ซึ่งเกิดจากการเล่นพนันล้างแค้นหลังโควิดหรือเล่นการพนักอย่างหนัก ยิ่งเล่นมากเท่าไรผู้เล่นจะยิ่งเสียเปรียบ ทั้งจากเลห์กลของเจ้ามือและจากผู้เล่นส่วนใหญ่ที่ดื่มเหล้าไปด้วยทำให้ไม่ค่อยมีสติ การพนันบั้งไฟเป็นสิ่งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำเมื่อถูกเอาเปรียบจึงไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้  ประการที่สอง ในสนามพนันบั้งไฟจะเป็นแหล่งรวมอบายมุข 2-3 ตัวคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน และบางที่มีการค้าประเวณีด้วย ซึ่งการเสียพนันยังนำไปสู่ปัญหาในครอบครัวด้วย ประการที่สาม หลังจากการเสียพนันแบบแลนด์สไลด์ บางฝ่ายน่าจะเสนอให้พนันบั้งไฟถูกกฎหมายด้วยอ้างว่าเอาสิ่งที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดินเพื่อเก็บภาษีและลดปัญหาส่วย แต่บ่อนพนันบั้งไฟถูกกฎหมายอาจกลายเป็นการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองท้องถิ่นและพวกพ้อง และจะสร้างปัญหาให้ชุมชนมากขึ้น การเรียกร้องเช่นนี้จึงเป็นการเพิ่มพื้นที่เสี่ยงให้แก่สังคม ทั้งที่จริงควรร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์มากกว่า

ในเวทีเสวนา นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ เสนอแนวทางการจัดงานต่อเจ้าภาพ 4 เรื่อง ดังนี้ (1) ควรควรเน้นการสืบทอดวัฒนธรรมและความเชื่อที่แท้จริงของงานบุญบั้งไฟ มากกว่าการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ เน้นความสนุก รื่นเริง หรือพนันขันต่อเพียงอย่างเดียว (2) ควรมีนโยบายและมาตรการที่เน้นเรื่องความปลอดภัย เช่น กำหนดเขต Zoning เพื่อสร้างความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ บั้งไฟระเบิด และไม่ละเลยเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่กำลังกลับมา (3) จัดงานควรอยู่ภายใต้ของกฎหมายต่างๆ ที่กำหนด โดยเฉพาะการงดการดื่มและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการ ศาสนสถานและพื้นที่สาธารณะ  และ (4) ควรมีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อควบคุมดูแลเฝ้าระวังและออกตรวจในบริเวณพื้นที่จัดงาน ขบวนแห่ ฐานจุดบั้งไฟ

นายสุเทพ กันตรี ผู้ใหญ่บ้านหนองผือ ตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าในหมู่บ้านมีการจัดบุญบั้งไฟโบราณบ้านเสียว โดยมีความเชื่อว่าเป็นการบูชาพญาแถน เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาลนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ชุมชนในช่วงการปักดำทำนา ซึ่งทางชุมชนมีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการสุขภาวะตำบลเสียว จัดงานให้เป็นงานบุญบั้งไฟโบราณ ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 13 แล้ว  ประเพณีบุญบั้งไฟจะมีการร้องรำ โดยบันทึกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ลงในกาพย์กลอนคำร้องเพื่อไม่ให้สูญหาย  รวมถึงต้นกำเนิดบุญบั้งไฟที่อยู่ในเพลงกลอนนั้นด้วย  เหนือสิ่งอื่นใดที่แฝงอยู่ในเพลงคือความสมัครสมานสามัคคีของการจัดงาน  ซึ่งคนในชุมชนทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างขะมักเขม้น  และได้รับการสืบทอดกลายเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนในชุมชนทุกคนทุกรุ่นมีความสามัคคีกัน

นายตรีเพชร หารไชย ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การจะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้เอาไว้ได้  จึงต้องมีการรณรงค์ให้งานบั้งไฟมีความปลอดภัย ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน  ตั้งแต่กระบวนการผลิต  ไปถึงกระบวนการจุด  และสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  สร้างพลัง  เสริมพลัง  สร้างความเข้าใจให้กับชุมชนให้จัดงานบั้งไฟแบบปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดการพนัน  บุญบั้งไฟราษีไศลทุกปีนี้นโยบายของอำเภอห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และห้ามเล่นการพนันทุกชนิด ที่สำคัญได้มีการจัดทีมเฝ้าระวังเพื่อให้การจัดงานมีความปลอดภัยและเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งปฏิบัติมาเป็นปีที่ 10 ของการรณรงค์งานบุญบั้งไฟอำเภอราษีไศล จนกลายเป็นวัฒนธรรมสร้างสุข ปลอดเหล้า ปลอดภัย “บ่มีเหล้ากะม่วนได้”

*****************************************************************