สสส.-สคล. สร้างกลไกหนุนภาคีครูปฐมวัยปลูกพลังบวก 4 ภูมิภาค

0
313

แก้ไขปัญหาปกป้องเยาวชน ปลูกฝังทักษะชีวิต แยกแยะ รู้เท่าทันเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด หวังเครือข่ายสถานศึกษาเป็นโมเดลสู่การปรับใช้ในพื้นที่ทั่วประเทศ

วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2565  ณ โรงแรมเอบีน่า เฮาส์  วิภาวดี  64  นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส.(สำนัก 1) กล่าวในเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานและวิทยากรระดับภูมิภาคว่า เด็กปฐมวัย มีความสำคัญ เพราะอาจมีโอกาสเข้าสู่วงจรนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ ดังนั้น สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสถานศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และได้จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อสร้างกลไกคณะทำงานให้เกิดการกระตุ้นหนุนเสริม จากโครงการ“ปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย” ซึ่งมีศึกษานิเทศก์ และนักวิชาการการศึกษาสนใจเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ จำนวน 50 ท่าน จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ  ซึ่งโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศของเด็กอย่างมาก ตั้งแต่ออกจากบ้านไปศูนย์เด็กเล็ก ออกจากศูนย์เด็กเล็กก็กลับมาบ้าน หรือวันพระก็ไปวัดกับพ่อแม่ เห็นควรว่าหากเกื้อกูลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของประเด็นสุขภาพ ซึ่งเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว เป็นที่วัยที่สมองส่วนหน้ากำลังเติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็ว ควรให้จะจดจำสิ่งที่ดีที่ควร ในทางตรงกันข้ามหากสิ่งที่ไม่ดี ก็จดจำเช่นกัน เหมือนคำพูดที่ว่าเด็กเห็นผู้ใหญ่ดื่มเหล้า เห็นผู้ใหญ่สูบบุหรี่ ตั้งแต่ในวัยเด็กเล็ก เห็นผู้ใหญ่ทำเช่นนั้นในบ้าน ในชุมชน และกลายเป็นความเคยชินและเป็นภาพจำตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นถ้าโรงเรียนสามารถเชื่อมต่อกับครอบครัว และชุมชนได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์

ทางด้าน ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง โครงการปลูกพลังบวกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดหนองบัวลำภู ถือเป็นปัญหาร้ายแรงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ทำอย่างไรให้ทุกคนตระหนักรู้ หากเราปล่อยให้เหล้า บุหรี่ และยาเสพติด ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมแบบนี้ ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ก็อาจจะกลับมาวนเวียนอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ดังนั้นเราต้องช่วยกันปลูกฝังสิ่งต่างๆ ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะก่อนวัยเรียน จึงจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ลงได้อย่างเป็นรูปธรรม  โครงการปลูกพลังบวกฯ  ได้บูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และทางกระทรวงศึกษาธิการ ต้องร่วมกันขับเคลื่อนกับทาง สสส.และสคล. นำไปสู่การขยายผล ทั้งนี้เราต้องแต่งตั้งคณะกรรมการในการติดตามสนับสนุน อย่างเป็นรูปธรรมในระดับจังหวัด และมีคำสั่งตรงไปยังศึกษาธิการจังหวัด เพื่อได้นำโครงการปลูกพลังบวกไปขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงได้ทำความเข้าใจกับครูปฐมวัยให้มีความเข้าใจในโครงการและมีส่วนสำคัญในการทำให้โครงการมีความสำเร็จมากยิ่งขึ้นซึ่งหวังว่าจะได้ร่วมกันนำโครงการนี้ไปขับเคลื่อนและขยายผลอย่างต่อเนื่องจนสามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ดร.รัติพร ภาธรธุวานนท์ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า บทบาทของศึกษานิเทศก็คือ ผู้ร่วมพัฒนาครู ในที่นี้เมื่อโครงการฯ เน้นในเรื่องทักษะชีวิตซึ่งก็จะสอดคล้องกับมาตรฐาน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติสอดคล้องกับพรบของเด็กปฐมวัยนั่นคือคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดก็ได้ร่วมด้วยช่วยกันในการปลูกพลังบวก ซึ่งจะต้องเริ่มที่ใจจะขอยกตัวอย่างของจังหวัดมหาสารคาม ก็คือให้ใจโมเดลเพื่อที่จะปลูกพลังบวกเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกโดยการดำเนินงานเราไม่ได้ดำเนินงานเฉพาะเด็กเท่านั้นเราจะต้องมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั่นก็คือผู้ดูแลเด็ก นอกจากครูแล้วก็จะมีผู้ปกครองด้วยซึ่งการดูแลเด็กปฐมวัยก็คือ การอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษา เราจะต้องเริ่มที่ตัวเราหมายถึงคุณครูจะต้องชี้แนะในสิ่งที่ดีงามสำหรับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังยุคโควิดเราจะต้องใช้ในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะ ส่วนใหญ่เด็กก็จะใช้สมาร์ทโฟนจึงต้องชี้แนะสิ่งที่ดีๆ รวมถึงการเอานิทานสิ่งที่ดีๆ มาปลูกฝังให้เด็กๆ ได้

นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวกสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย เปิดเผยว่า การดำเนินงานของโครงการฯ ได้สร้างเครือข่ายครูปฐมวัย ซึ่งเป็นบุคลากรในสถานศึกษาระดับปฐมวัย (อายุระหว่าง 2 -6  ขวบ) โครงการปลูกพลังบวกฯ ระแรกเริ่มจาก 4 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ที่ขับเคลื่อนงานปฐมวัยทั้งจังหวัด ภาคเหนือที่จังหวัดน่าน ภาคอีสานที่จังหวัดศรีษะเกศ ภาคใต้ที่จังหวัดชุมพร ภาคกลางที่จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 1,443 แห่งใน  35 จังหวัดทั่วประเทศ จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีตัวอย่างที่ดีของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลหลักห้า (โรงเรียนบ้านดอนไผ่) ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมโครงการฯ จนเกิดความร่วมมือระหว่างโรงเรียน และผู้ปกครองทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กเรียนรู้ถึงโทษภัย จากการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้า ส่งผลทำให้ผู้ปกครองได้ตระหนักโทษภัยของบุหรี่และสุราไปด้วย การดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในชุมชนมีการลด ละ เลิกการดื่ม และร้านค้าของชุมชนงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดำเนินงานงานของโครงการจึงเป็นการสร้างสังคมสุขภาวะผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก และทำให้เด็กเปลี่ยนครูและเปลี่ยนผู้ปกครอง รวมถึงเปลี่ยนสังคมรอบตัวเด็กๆ อีกด้วย

นางสาวมาลัย กล่าวต่อว่า การดำเนินงานในระยะต่อไป เน้นสร้างกลไกและสร้างเครือข่ายคณะทำงานปลูกพลังบวกฯ ซึ่งคุณครูนิเทศก์จะเป็นคณะทำงานที่มีบทบาทต่อโครงการนี้อย่างมาก เมื่อผู้ปกครองนำเด็กเข้าไปฝากไว้ที่ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ซึ่งครูกลายเป็นปัจจัยหลักในการฝึกตัวตนของเด็กๆ และเกิดความคาดหวังในตัวครูผู้สอน ทางโครงการจึงต้องมีคุณครูนิเทศในเขตต่างๆ เป็นพี่เลี้ยง เพื่อเป็นหน่วยช่วยกระตุ้น หนุนเสริม ติดตาม ให้แนวคิด และหาเครื่องมือใหม่ๆ  จึงได้มีการคัดเลือกศึกษานิเทศก์ที่มีใจ มีความรู้ เข้ามาร่วมปฏิบัติงานและเกิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ นอกจากนี้ในระยะปี 2566-2567 ทางโครงการฯ มีแผนขยายห้องเรียน สถานศึกษาเข้าร่วมโครงการอีก 800 ห้องเรียน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ พัฒนาต้นแบบในแต่ละจังหวัด รวมทั้งส่งเสริมสถานศึกษาได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์นำประสบการณ์การรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า-บุหรี่ สู่ชมชนต่อไป

*****************************************************************