สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สืบสานสัมพันธ์มิตรภาพ 2 ศาสนา

0
2020

วันนี้ (21 พ.ย. 2562) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก และนครรัฐวาติกัน ซึ่งเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชมีพระดำรัสรับเสด็จความว่า

“ขอถวายพระพร มหาบพิตรสมเด็จพระสันตะปาปา ผู้ทรงสมณคุณอันประเสริฐ อาตมภาพในนามคณะสงฆ์ไทย ขอถวายอนุโมทนาสาธุการ ในโอกาสที่มหาบพิตร เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทย และเสด็จมาทรงเยี่ยมอาตมภาพในวาระนี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพึงจดจารึกไว้เป็นศุภนิมิตแห่งน้ำใจไมตรีที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกกับพุทธจักรไทย มีสืบเนื่องกันมาอย่างแน่นแฟ้น ราบรื่น และงดงาม เป็นเวลาเนิ่นนานนับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

เมื่อ 35 ปี ล่วงมาแล้ว ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เฉพาะพระพักตร์พระพุทธอังคีรส ประธานพระอุโบสถแห่งนี้ สมเด็จพระอุปัชฌายะของอาตมภาพ คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ได้เสด็จลงทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก เสด็จมาทรงเยี่ยมประมุขแห่งพุทธจักรไทย ณ ราชอาณาจักรไทย ภาพเหตุการณ์ในวันนั้น ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของอาตมภาพ ผู้มีโอกาสได้เฝ้าอยู่ในการดังกล่าวด้วย ทั้งสองพระองค์ทรงปราศรัยกัน ทรงแสดงพระอัธยาศัยอันงามต่อกัน บนพื้นฐานแห่งพระเมตตาจิตอย่างแท้จริง ในฐานะนักบุญผู้ประเสริฐแห่งสองศาสนา ซึ่งมุ่งหมายจะแผ่ความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ไปสู่ทุกชีวิตอย่างไม่มีประมาณ เป็นอุดมการณ์ร่วมกัน

ขอถวายพระพรให้ทรงทราบว่า ใต้ฐานพระพุทธอังคีรส ยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า สมเด็จพระสันตะปาปา เลโอที่ 13 เมื่อพุทธศักราช 2440, เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ผู้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอที่ 11 เมื่อพุทธศักราช 2477 อีกทั้งเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 เมื่อพุทธศักราช 2503 และทรงเคยรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยเมื่อพุทธศักราช 2527 ณ สถานที่แห่งนี้ จึงเป็นมงคลสถานสำหรับการพบกันของเราทั้งสอง ด้วยส่วนแห่งพระวรกายของทุกๆ พระองค์ ยังคงประดิษฐานเป็นสักขีพยานแห่งมิตรภาพ ซึ่งได้ทรงสร้างสรรค์ไว้นับแต่อดีตสมัย หากแต่ละพระองค์มีพระญาณวิถีใดที่จะทรงหยั่งทราบ คงจะทรงโสมนัสพระราชหฤทัยไม่น้อย ที่ได้ทอดพระเนตรเห็นความเจริญงอกงามแห่งทางพระราชไมตรี เป็นภาพอันน่าประทับใจอีกครั้งในวันนี้ การเสด็จมาครั้งนี้ของมหาบพิตร จึงไม่ใช่การมาของมิตรใหม่ หากแต่เป็นการมาเยือนของมิตรแท้อันเก่าแก่ของคนไทย ระยะทางที่ห่างไกลกันหาใช่อุปสรรคของความสนิทสนมกลมเกลียวกัน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนไว้ว่า ‘ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีผู้บูชาในที่ทั้งปวง.’ ‘ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมผ่านพ้นศัตรูทั้งปวง.’ บัดนี้ มหาบพิตร ทรงพระอุตสาหะตรากตรำพระวรกายบนหนทางแสนไกล เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทย และมาทรงเยี่ยมอาตมภาพด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยมิตรภาพถึงที่นี้ อาตมภาพขอสนองน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยมิตรภาพนั้นๆ ตอบถวาย เป็นหลายเท่าทวีคูณ

ด้วยอานุภาพแห่งพระเมตตาธรรม ซึ่งมหาบพิตรทรงเจริญมั่นอยู่ในพระหฤทัย และด้วยศุภผลแห่งกุศลเหตุ คือความไม่ประทุษร้ายมิตร ขอมหาบพิตร ทรงสถิตสถาพร เป็นปูชนียฐานอันประเสริฐของศาสนิกบริษัท และทรงพระเจริญในสมณคุณ ค้ำจุนให้ทรงผ่องแผ้วผ่านพ้นภัยพิบัติทั้งปวง สมตามพระพุทธานุศาสนีดังอาตมภาพอัญเชิญมาอ้าง เป็นสัจจวาจาข้างต้นนี้ทุกประการ ขอถวายพระพร”

พระสันตะปาปาฟรานซิส มีพระดำรัสกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า “หม่อมฉันรู้สึกซาบซึ้งในพระดำรัสของฝ่าพระบาท และปิติอย่างยิ่งที่ได้เริ่มต้นภารกิจแรกของการมาเยือนราชอาณาจักรนี้ โดยการมาเฝ้าฝ่าพระบาท ณ วัดราชบพิธฯ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณค่าอันประเสริฐ อีกทั้งได้เรียนรู้คำสอนในพระพุทธศาสนาที่แสดงถึงคุณลักษณะของปวงชนอันเป็นที่รักผู้เป็นศาสนิกชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย พระพุทธศาสนาเกื้อกูลให้เคารพต่อชีวิต ดูแลผู้อาวุโส ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย บนพื้นฐานความตั้งมั่นแห่งจิต การปล่อยวาง ความเพียร และความมีวินัย นี้เป็นลักษณะที่เพาะบ่มอัตลักษณ์พิเศษคนไทย ทำให้ผืนแผ่นดินนี้เป็นที่รู้จักในนามของประเทศแห่งรอยยิ้ม

การพบกันระหว่างฝ่าพระบาทและหม่อมฉันในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีแห่งความชื่นชม และการยอมรับซึ่งกันและกันที่บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าเราได้เริ่มต้นไว้ หม่อมฉันปรารถนาที่จะให้การพบปะกันในวันนี้ เป็นการเจริญรอยตาม พร้อมทั้งกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างศาสนิกชนของเรา โดยเฉพาะเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต เสด็จพร้อมด้วยคณะพระเถระ ไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ณ นครรัฐวาติกัน อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในการพัฒนาการเสวนาระหว่างศาสนาทั้งสอง นำไปสู่การที่สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จมาเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 18 และในกาลต่อมา ฝ่าพระบาทยังยังทรงพระกรุณาโปรดประทานพระอนุญาตให้คณะพุทธบริษัทจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นำบทแปลพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ซึ่งจารึกเป็นภาษาบาลี และถูกเก็บรักษาอยู่ในหอสมุดวาติกัน เดินทางไปมอบให้หม่อมฉันเป็นโอกาสให้หม่อมฉันได้ต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดี นับเป็นก้าวสำคัญอันเป็นประจักษ์พยานว่า วัฒนธรรมแห่งการพบปะกันฉันมิตร เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่เพียงแต่ศาสนิกชนของเรา แต่ยังพึงเป็นไปสู่ชาวโลก ซึ่งนับวันมีแนวโน้มจะยุยงให้เกิดความแตกแยก เมื่อเรามีโอกาสที่จะได้เข้าใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้ว่ามีความแตกต่างกันบ้าง แต่ในที่สุดก็จะบังเกิดผลอันดีงามสู่ชาวโลก วาจาแห่งความหวังย่อมสามารถให้กำลังใจและพลิกฟื้นบุคคลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความแตกแยกได้ ในศุภวาระเช่นนี้เตือนสติพวกเราให้เข้าใจความสำคัญของศาสนา ในฐานะที่เป็นประภาคารแห่งความหวัง และเป็นดวงประทีปที่ส่งเสริม สนับสนุนและเป็นหลักประกันแห่งภราดรภาพ หม่อมฉันขอขอบใจปวงชนชาวไทย ที่ให้โอกาสศาสนิกชนคาทอลิกผู้เข้ามาในประเทศไทยกว่าสี่สตวรรษที่แล้ว ถึงแม้ว่าชาวคาทอลิกจะเป็นเพียงกลุ่มศาสนิกอันน้อยนิด แต่ก็ได้รับเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม และได้ดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขกับพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งชายหญิงมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

ในการเดินทางมาและก้าวเดินต่อไปด้วยความไว้วางใจกัน และภราดรภาพต่อกันเช่นนี้ หม่อมฉันปรารถนาที่จะเน้นย้ำความตั้งใจจริงส่วนตัวของหม่อมฉัน และของพระศาสนจักรคาทอลิกโดยส่วนรวม ในการที่จะเสริมสร้างให้เกิดการเสวนาที่เปิดเผยและเคารพซึ่งกันและกัน ในการรับใช้เพื่อสันติภาพ ตลอดจนความผาสุกของศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าโดยอาศัยการเสวนาในระดับวิชาการที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจกันที่ลึกซึ้งมากขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิ การแสดงความเมตตา และการศึกษาใคร่ครวญอย่างละเอียด ซึ่งล้วนเป็นคุณธรรมที่เรายึดถือร่วมกันในศาสนาของสองเราก็จะสามารถ “เจริญเติบโต” ในการเป็น “เพื่อนบ้านแบบมิตรแท้” ที่ดีต่อกัน เราจะสนับสนุนให้ศาสนิกชนได้ค้นหาวิธีการแสดงความเมตตาในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อจะได้เป็นการส่งเสริมให้พวกเขาดำเนินชีวิตในความเป็นพี่น้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาผู้ที่ยากจนที่สุด และกับโลกอันเป็นบ้านส่วนรวมของเราที่กำลังถูกทำลาย ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถสร้างวัฒนธรรมแห่งความเมตตา ภราดรภาพ และการพบปะกันทั้งที่นี้และที่อื่นๆ ในโลกนี้ หม่อมฉันมั่นใจว่าวิธีการเช่นนี้จะเกิดผลอย่างบริบูรณ์ในอนาคต

หม่อมฉันขอขอบพระทัยฝ่าพระบาทอีกครั้งหนึ่งที่ประทานโอกาสให้เราทั้งสองได้พบกัน หม่อมฉันขออธิษฐานวิงวอนต่ออานุภาพอันสูงสุดเพื่อถวายพระพรแด่ฝ่าพระบาท ขอฝ่าพระบาทมีพลานามัยแข็งแรง และเปี่ยมด้วยพระเกษมสุข อีกทั้งขอถวายพระพรให้ฝ่าพระบาท มีพระกำลังที่จะทรงนำพาพุทธศาสนิกชนให้ประสบสันติสุขสืบไป ขอขอบพระทัย”