สมเด็จพระสังฆราช ประทานโอวาทแก่บัณฑิต มจร. ในพิธีประทานปริญญาบัตร จงมุ่งมั่นพัฒนาความรู้ความสามารถของตนให้ลึกซึ้ง

0
3718

วันนี้ 25 พฤษภาคม 2562 ที่หอประชุมอาคาร ม.ว.ก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เสด็จในพิธีประทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปี 2562 โอกาสนี้ทรงประทานพระโอวาท ความโดยสรุปว่า ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาและความวิริยะอุตสาหะของคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกัน ดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย ให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ พร้อมทั้งขอแสดงมุทิตาจิตต่อบัณฑิตใหม่ทุกรูป ทุกคน

ท่านทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต เป็นบุคคลที่โลกนิยมว่ามีความรู้ความสามารถขั้นอุดม ย่อมถูกคาดหวังจากสังคมว่าจะต้องมีปัญญารอบรู้ในศาสตร์สาขาที่ท่านเล่าเรียนมา ความคาดหวังเช่นนั้นอาจสมหวังของผู้คาดบ้าง ไม่สมหวังบ้าง เป็นธรรมดา ความจริงข้อนี้ บัณฑิตทั้งหลาย จึงควรหยิบยกขึ้นมาเตือนใจตนอยู่เสมอว่า การพัฒนาตนให้ก้าวหน้าในวิชาความรู้ และทักษะความสามารถนั้น เป็นหน้าที่ที่บัณฑิตต้องปฏิบัติบำเพ็ญให้เป็นไปอยู่เสมอ จนตลอดชีวิต เพราะการหยุดอยู่กับที่ โดยมั่นใจว่าตนรู้มากแล้ว ฉลาดเฉลียวพอแล้ว ย่อมเสมอด้วยการถอยหลังตกต่ำลงไปทุกที ทั้งนี้ อาจมิใช่เพราะว่าท่านทั้งหลายโง่เขลาลง หรือเลวทรามลง แต่เป็นเพราะว่าคนอื่นๆ เขาไม่หยุดก้าวเดิน เขาเหล่านั้นจึงเดินก้าวล้ำนำหน้าไปไกล ผู้ที่หยุดความอุตสาหะพากเพียรที่จะอบรมกาย วาจา และใจของตนให้ดีขึ้น จึงเปรียบเหมือนการถอยหลังลงไปสู่ความเสื่อมอยู่ทุกขณะ บุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนิยามไว้ว่าเป็นบุคคลผู้ประมาท เปรียบได้ดั่งบุคคลที่ตายแล้ว ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้น หากบัณฑิตมุ่งความเจริญงอกงามในชีวิต ก็ขอจงมุ่งมั่นพัฒนาความรู้ความสามารถของตน
ให้ลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไป ตามวิถีแห่งความไม่ประมาทเถิด ขออำนวยพร

พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปัญโญ) อธิการบดี มจร. กล่าวว่า มจร.เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2430 ต่อมาในปีพุทธศักราช 2540 รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้จัดการศึกษาและบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม ดังนี้ 1. ระดับบัณฑิตศึกษา จัดการศึกษาระดับปริญญาเอก 16 สาขาวิชา และระดับปริญญาโท 23 สาขาวิชา 2.ระดับปริญญาตรี มี 4 คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ จัดการศึกษารวม 25 สาขาวิชา

  1. ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตจัดการศึกษา 1 สาขาวิชา 4. มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง คือ โรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา 5. วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาโท 1 สาขาวิชา ระดับปริญญาเอก 2 สาขาวิชา 6. ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม มีหลายส่วนงานที่ดำเนินการ คือ สถาบันวิปัสสนาธุระ วิทยาลัยพระธรรมทูต อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาจุฬาอาศรม และศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน จังหวัดเพชรบูรณ์

มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขต 11 แห่ง คือ วิทยาเขตหนองคาย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วิทยาเขตเชียงใหม่ วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตนครราชสีมา วิทยาเขตอุบลราชธานี วิทยาเขตแพร่ วิทยาเขตสุรินทร์ วิทยาเขตพะเยา วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม และวิทยาเขตนครสวรรค์

มีวิทยาลัยสงฆ์ 23 แห่ง คือ วิทยาลัยสงฆ์เลย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี วิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ วิทยาลัยสงฆ์พุทธโสธร วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี วิทยาลัยสงฆ์ชัยภูมิ วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมืองเพชรบูรณ์ วิทยาลัยสงฆ์ราชบุรี วิทยาลัยสงฆ์พิจิตร วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ วิทยาลัยสงฆ์สุราษฎร์ธานี วิทยาลัยสงฆ์มหาสารคาม วิทยาลัยสงฆ์ระยอง วิทยาลัยสงฆ์เพชรบุรี และวิทยาลัยสงฆ์อุทัยธานี

มีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง คือ วิทยาลัยพระพุทธศาสนาดองกุก ชอนบอบ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ซิน จู๋ ไทเป วิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา วิทยาลัยพุทธศาสตร์ประเทศสิงคโปร์ และวิทยาลัย พระพุทธศาสนาธรรมเกท ประเทศฮังการี

มีสถาบันสมทบในประเทศ 1 แห่ง คือ มหาปัญญาวิทยาลัย วัดถาวรวราราม แห่งอนัมนิกาย หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

มีโครงการขยายห้องเรียนและหน่วยวิทยบริการใน 8 จังหวัด คือ กาญจนบุรี สงขลา ตาก ชลบุรี อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร จันทบุรี และสระแก้ว

ในปีการศึกษา 2561 มีนิสิตเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวนรวมทั้งสิ้น 20,129 รูป/คน โดยเป็นนิสิตชาวต่างประเทศ 1,424 รูป/คน และในพิธีประสาทปริญญาครั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย ดุษฎีบัณฑิต จำนวน 350 รูป/คน มหาบัณฑิต จำนวน 631รูป/คน บัณฑิต จำนวน 3,399 รูป/คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,380 รูป/คน