สมเด็จพระสังฆราช ทรงแนะเจ้าอาวาส “วัดพัฒนาตัวอย่าง” ตระหนักรู้ในคุณสมบัติพื้นฐานของวัดกับชุมชน เพื่อการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

0
707

วันนี้ (26 ก.ย.62) เวลา 13.30 น. ณ หอประชุมพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นประธานในพิธีประทานประกาศเกียรติคุณแก่เจ้าอาวาสวัดที่ได้รับคัดเลือกเป็นอุทยานการศึกษาในวัด วัดพัฒนาตัวอย่าง และวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2561 โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไปเฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ สมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานคติธรรม มีความว่า คำว่า “พัฒนา” แปลว่าทำให้เจริญขึ้น ทำให้ก้าวหน้าขึ้น การจะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมี “หลัก” ของการพัฒนา มิเช่นนั้น ผู้มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนา ก็อาจเผลอใช้อคติส่วนตนเป็นวิถีแห่งการทำงาน แล้วเข้าใจไปว่าเป็นการพัฒนาที่ถูกต้อง ทั้งอาจไม่สอดคล้องกับหลักการและกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมก็เป็นได้ โอกาสนี้ จึงขอปรารภหลักการบางประการที่เกี่ยวกับการพัฒนา เพื่อท่านทั้งหลายอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานภาคปฏิบัติต่อไป

การพัฒนาวัด ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างได้อย่างถูกต้องเหมาะสมนั้น จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐาน ปรัชญา แนวความคิด และหลักการ ที่ปรารถนาให้มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก่อนที่จะพิจารณาถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดให้ดีขึ้นได้นั้น ท่านเจ้าอาวาส ตลอดจนชาววัดและชาวบ้านทุกฝ่าย ต้องตระหนักถึง “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นร่วมกันในวัดก่อน กล่าวในทางพระพุทธศาสนา ก็คือการดำรงคุณธรรมข้อ “จิตตะ” และ “วิมังสา” ให้มั่นคงอยู่เสมอนั่นเอง

          วัดของท่านทุกวัด ล้วนมีองค์ประกอบแตกต่างกันไป ทั้งในแง่ของชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนศิลปวัฒนธรรม ผมจึงขอฝากข้อคิดให้ท่านไปพิจารณาว่าการพัฒนาของแต่ละวัดนั้น ได้ผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้จนเห็นสภาพปัญหาอย่างถ่องแท้ สามารถตระหนักรู้ในคุณสมบัติพื้นฐานของวัดกับชุมชนของท่านแล้วหรือยัง ท่านสามารถลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาก่อนและหลังได้อย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ ท่านกำหนดวิธีการที่จะใช้เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ กฎเกณฑ์ บุคลากร และทรัพยากรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาแต่ละประการได้อย่างเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

ในฐานะเจ้าอาวาส ท่านมีหน้าที่สำรวจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัดและชุมชนของท่านอยู่ตลอดเวลา และยิ่งวัดของท่านได้รับการยกย่องในด้านการเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง และอุทยานการศึกษาในวัดแล้ว ท่านต้องรักษาเกียรตินี้ไว้ให้ได้ตลอดไป ขอจงอย่าหยุดยั้งที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ที่สามารถบรรลุถึงการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

นายเทวัญ กล่าวว่า มหาเถรสมาคม(มส.) และรัฐบาล ได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในทุกด้าน พศ.ได้รับสนองนโยบายดังกล่าว โดยกำหนดกรอบนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาวัด ให้เป็นศูนย์กลางชุมชน สนับสนุนการพัฒนาวัดและบูรณปฏิสังขรณ์ อาคารเสนาสนะให้มั่นคงถาวร ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัด และชุมชนรอบวัดให้สะอาด ร่มรื่น เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับวัดตามหลัก “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียนและส่วนราชการ พัฒนาวัดให้มีลักษณะที่พึงประสงค์ 4 ประการ คือ สะอาด สงบ สว่าง และสร้างความสุขให้กับสังคม ในปี 2561 พศ.ได้ดำเนินการคัดเลือกวัดที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสม และสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัด จำนวนทั้งสิ้น 117 วัด โดยแบ่งเป็น วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น จำนวน 37 วัด วัดพัฒนาตัวอย่าง จำนวน 26 วัด และอุทยานการศึกษาในวัด จำนวน 54 วัด